เมื่อวันที่ 26 เมษายนปีพ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา GIZ ภายใต้แผนงานความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไทย-เยอรมันในกรอบการดำเนินงานด้านนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อหารือถึงแนวทางในการดำเนินงานร่วมกันและการบูรณาการการขับเคลื่อนนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองยุทธศาสตร์และแผนงานสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และ GIZ เข้าร่วม
การประชุมเชิงปฏิบัติการนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมภายใต้โครงการการดำเนินงานด้านนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ GIZ ให้การสนับสนุน สผ.ในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปสู่การดำเนินงานในพื้นที่ 60 จังหวัด ซึ่งเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาและดำเนินงานด้านนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยระหว่างปีพ.ศ. 2557-2560 ที่ผ่านมา ที่ได้คัดเลือกพื้นที่นำร่องในการดำเนินงานไปแล้วจำนวน 17 จังหวัดและ 32 เทศบาล
จากการระดมความคิดเห็นในที่ประชุม พบว่าทุกหน่วยงานมีความต้องการที่จะบูรณาการการดำเนินงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปสู่พื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้การบูรณาการฯ ควรเริ่มจากการมองให้เห็นถึงปัญหา ความต้องการของพื้นที่เป้าหมาย ประโยชน์ที่พื้นที่เป้าหมายจะได้รับ รวมทั้งอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อความสำเร็จของพื้นที่ และการดำเนินงานในพื้นที่นั้นๆ จำเป็นต้องมีการวางแผนที่ดี มีรูปแบบกระบวนการที่ชัดเจน มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน ตลอดจนมีการติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม งบประมาณที่มีจำกัด ถือเป็นความท้าทายหลักในการดำเนินงาน ดังนั้น จึงควรจะต้องมีการชี้ช่องทางการจัดสรรหรือขอรับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงาน
นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังได้มีการเสนอเป้าหมายร่วมกัน โดยแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ในระดับพื้นที่และระดับประเทศ ในที่ประชุมต่างเห็นพ้องกันว่าในระดับพื้นที่ ควรจะยึดเป้าหมายที่สอดคล้องกับการพัฒนาของจังหวัด เพื่อดูทิศทางและบริบทความต้องการของพื้นที่ โดยต้องพิจารณาว่าจะขับเคลื่อนและบูรณาการการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่ระดับพื้นที่อย่างไร คนในพื้นที่มีขีดความสามารถเพียงพอหรือไม่ และหน่วยงานใดจะสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้บ้าง และในระดับประเทศ เบื้องต้นควรจะยึดเป้าหมายของการมีส่วนร่วมของประเทศ (NDC) และเป้าหมายของแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ (NAP) แล้วจึงค่อยพิจารณาถึงภารกิจของแต่ละหน่วยงาน หากหน่วยงานใดมีภารกิจที่สอดคล้องกัน ก็จะสามารถดึงมาวางแผนและขับเคลื่อนไปด้วยกัน เพื่อลดความซ้ำซ้อนของการดำเนินงาน
ในตอนท้ายของการประชุม ได้มีการหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน โดยแบ่งเป็นสองส่วน คือ ส่วนแรกในช่วงปีงบประมาณ 2561 ที่แต่ละหน่วยงานได้มีการกำหนดกรอบและงบประมาณในการดำเนินการไปแล้วนั้น จะยังคงให้แต่ละหน่วยงานดำเนินการไปตามแผนที่วางไว้แต่ให้มีช่องทางการสื่อสารร่วมกัน และหากเป็นไปได้ให้พิจารณาการบูรณาการกิจกรรมตามความเหมาะสม ส่วนที่สองเป็นแนวทางการดำเนินงานร่วมกันในระยะยาว ซึ่งได้หารือถึงการจัดตั้งกลไกการบูรณาการฯ เช่น การตั้งคณะทำงานภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดทำหลักเกณฑ์ในการดำเนินการร่วมกัน และอาจรวมไปถึงแนวโน้มในการของบประมาณในการบูรณาการการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องมีการหารือในรายละเอียดลำดับต่อไป