เมื่อวันที่ 23 เมษายนปี พ.ศ. 2561 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกับกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติและความปลอดภัยทางปรมาณู สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU) จัดประชุมเรื่องความร่วมมือระหว่างไทย-เยอรมนี ภายใต้แผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) โดยมีผู้แทนจากรัฐบาลไทย BMU และองค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วมประชุมเพื่อหารือถึงโอกาสในการเสริมสร้างความร่วมมือและสนับสนุนรัฐบาลไทยในการทำงานด้านการปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
การประชุมเริ่มต้นด้วยการเสวนาเรื่อง “การมีส่วนร่วมในการจัดทำเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ (NDCs) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) กลไกหลักเพื่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและการเติบโตของสังคมอย่างยั่งยืน ในมุมมองของประเทศไทยและเยอรมนี” โดยมีนายสเตฟาน คอนเทียส กรรมาธิการ วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 จาก BMU ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช ผู้อำนวยการสำนักงานประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากสผ. ดร.ชณกช ชสิธภนญ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษาด้านการวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมเสวนา และดำเนินการเสวนาโดยนายทิม มาเลอร์ ผู้อำนวยการ GIZ ประจำประเทศไทยและมาเลเซีย
เบื้องต้นได้มีการอธิบายว่า NDCs และ SDGs ทำหน้าที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตขึ้น และการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมีการปรับเปลี่ยนวิถึการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมถึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตและพฤติกรรมการบริโภคอย่างเหมาะสม ผู้แทนจากรัฐบาลไทยกล่าวว่า NDCs ถูกพัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของ SDGs และประเทศไทยมีการบริหารจัดการองค์กรเพื่อดำเนินงานเกี่ยวกับ NDCs และ SDGs แล้ว อย่างไรก็ตามการดำเนินงานเกี่ยวกับ NDCs จะประสบความสำเร็จได้นั้น ก็ต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคมด้วย TDRI ในฐานะที่เป็นคลังสมองและมีคณะทำงานที่เชี่ยวชาญด้านการวิจัย กล่าวเพิ่มเติมว่ารัฐบาลไทยมีเป้าหมายการดำเนินงานอยู่หลายประการ และนับเป็นความท้าทายที่จะต้องดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายในแต่ละเป้าเพื่อพัฒนาภาคส่วนต่างๆ ของประเทศ อย่างเช่นภาคพลังงาน
ผู้แทนจากทาง BMU ได้นำเสนอแผนการดำเนินงานด้านการปกป้องสภาพภูมิอากาศภายในปี พ.ศ. 2593 (Climate Action Plan 2050) ที่จะช่วยผลักดันให้เยอรมนีก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน มาตรการในการดำเนินงานแต่ละภาคส่วนของแผนงานนี้จะเกี่ยวข้องกับ SDGs ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการลดก๊าซเรือนกระจก
ภายหลังจากการเสวนา ได้มีการจัดอภิปรายโดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มในหัวข้อเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยผู้แทนจากรัฐบาลไทยและองค์กรระหว่างประเทศ ได้ร่วมกันหารือเกี่ยวกับรายละเอียดการดำเนินงานปัจจุบัน ประเด็นสำคัญ ความท้าทาย และโอกาสในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนระบุทางเลือกของการทำงานร่วมกัน เสนอแนวทางสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้โครงการของ IKI แจกแจงความต้องการและจัดลำดับความสำคัญของการทำงานในแต่ละภาคส่วน
นอกจากนี้ ในวันที่ 24 เมษายนปี พ.ศ.2561 ผู้แทนรัฐบาลไทยและเยอรมนี ยังได้เข้าร่วมประชุม Extended Steering Committee Meeting และ Steering Committee Meeting ซึ่งเป็นการประชุมหารือระหว่าง สผ. และ BMU เพื่ออภิปรายประเด็นที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย และเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการจัดลำดับความสำคัญของการทำงานในแต่ละภาคส่วน รวมถึงการดำเนินงานให้สอดคล้องกับแผนงานการสนับสนุนของ IKI
ตั้งแต่ปีพ. ศ. 2552 เป็นต้นมา BMU ได้สนับสนุนงบประมาณให้แก่โครงการในประเทศไทยมากกว่า 13 โครงการ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นประมาณ 50 ล้านยูโร (ประมาณ 1,900 ล้านบาท) เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนปกป้องผืนป่าเพื่อคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ