หากย้อนไปเมื่อปีพ.ศ. 2557 โครงการริเริ่มข้าวที่ดีขึ้นแห่งเอเชียหรือเบรีย ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง GIZ กรมการข้าวและบริษัท บีเอเอสเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด จับมือผลิตรายการทีวีชุดเพื่อให้ความรู้แก่ชาวนาและบุคคลทั่วไปด้านความปลอดภัย ความรับผิดชอบต่อสังคมและเกษตรกรรมแบบยั่งยืนทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 เริ่มแรกได้มีการผลิตรายการชุด “ชาวนารักความปลอดภัย” ด้วยรูปแบบรายการที่แปลกใหม่ ประกอบกับสาระความรู้ความบันเทิงที่ถ่ายทอดออกมาได้เข้าใจง่าย จึงเกิดกระแสตอบรับที่ดี และทำให้มีการผลิตรายการชุดออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นรายการชุด “ชาวนารักดิน” “ชาวนารักเมล็ดพันธุ์” และท้ายสุดรายการ “ชาวนารักข้าวยั่งยืน”
ตลอดระยะเวลาช่วง 4 ปีที่ได้ผลิตรายการทีวีชุดดังกล่าว นับได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยเมื่อวันที่19 มิถุนายนปี พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา โครงการฯ ได้จัดพิธีปิดรายการชาวนารักข้าวยั่งยืนและมอบรางวัลให้แก่เกษตรกร ณ โรงแรมมารวยการ์เด้นท์ กรุงเทพฯ โดยมีนาย Petrus Ng กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีเอเอสเอฟ (ไทย) จำกัด นายสุริยัน วิจิตรเลขการผู้อำนวยการโครงการภูมิภาค GIZ และนายสุวัฒน์ เจียระคงมั่น รองอธิบดีกรมการข้าว เป็นประธานกล่าวเปิดงาน
ภายในงานได้มีการเสวนาถอดบทเรียนการถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีการผลิตข้าวสู่เกษตรกรผ่านสื่อโทรทัศน์จากนางพรศิริ เสนากัสป์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาชาวนากรมการข้าว ดร.สุนทรา โตบัว อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นางสาววทินี ตันเจริญ บริษัทบีเอเอสเอฟ (ไทย) จำกัด นายอรรถวิชช์ วัชรพงศ์ชัย ผู้จัดการโครงการเบรีย GIZ และผู้แทนจากกลุ่มเกษตรกรผู้เข้าร่วมแข่งขัน นายธีรศักดิ์ อาบชาติ ทีมจังหวัดอยุธยา และนายพิชัย โสทะ ทีมจังหวัดนครสวรรค์
นางพรศิริ เสนากัสป์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาชาวนากรมการข้าว กล่าวว่า “ในความเป็นจริง ก็เคยคิดว่าชาวนาไทยส่งข้าวได้เป็นอันดับ 1 ของโลก ก็ดีมากแล้ว..แล้วมันจะมีอะไรที่ดีกว่านี้อีกหรือ พอได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการทำรายการ ก็ทำให้เราได้รู้ว่า ทุกอย่างต้องมีการพัฒนาตลอดเวลา เพื่อสิ่งที่ดีและต้องดีกว่าเดิม แล้วเราก็ค่อยๆ มานั่งวิเคราะห์ว่าอะไรล่ะที่จะมาพัฒนาได้อีกเป็นลำดับๆ ก็เกิดแนวคิด 4S ขึ้นมา คือเราต้องพัฒนาเรื่องความปลอดภัย (Safety) การวิเคราะห์ดิน (Soil) การวิเคราะห์เมล็ดพันธุ์ (Seed) และนำไปสู่การผลิตข้าวที่ยั่งยืน (Sustainable Rice Platform – SRP) แนวคิดตรงนี้ที่ทำให้เกิดเป็นรายการชุด “ชาวนารักความปลอดภัย” “ชาวนารักดิน”“ชาวนารักเมล็ดพันธุ์” และรายการ “ชาวนารักข้าวยั่งยืน” อย่างที่เห็น”
“ตลอดระยะเวลา 4 ปี เราได้มีการถอดบทเรียนตลอดว่าจะทำอะไรต่อ จะปรับปรุงอะไรเพิ่ม เพื่อตอบโจทย์ในแต่ละตอน รวมทั้งเรายังเปิดโอกาสให้ผู้รับชมรายการได้ส่งคำถามมายังรายการ เพื่อเติมเต็มรายละเอียดของเนื้อหารายการให้สมบูรณ์ขึ้น เราตอบโจทย์รายการได้ เราก็ต้องตอบโจทย์ผู้รับชมได้เช่นกัน” นางพรศิริ กล่าวเสริม
ด้านดร. สุนทรา โตบัว อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “ปีนี้ ประเมินได้ว่าคนรับชมรายการค่อนข้างหลากหลาย คือ เกษตรกรจำนวนกว่า 100 คน นักเรียนจำนวน 100 คนและบุคคลทั่วไปอีกประมาณ 200 คน ซึ่งถือว่ารายการได้รับความสนใจ เนื่องจากรายการถ่ายทอดเนื้อหาเรื่องการทำเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีได้เข้าใจง่ายและสามารถจูงใจคนรับชมได้ทุกกลุ่ม ก่อนหน้ารับชมรายการ คนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าต้องทำเมล็ดพันธุ์อย่างไร แต่พอได้ชมรายการ ก็เข้าใจและรู้สึกว่าเป็นประโยชน์มาก”
ในมุมมองของนางสาววทินี ตันเจริญ บริษัทบีเอเอสเอฟ (ไทย) จำกัด กล่าวในฐานะเป็นหน่วยงานหลักที่ให้การสนับสนุนการผลิตรายการว่า “ทางองค์กรรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมดีๆ แบบนี้กับเกษตรกรไทย เพราะการปลูกข้าว ถือเป็นอาชีพหลักของคนไทย ในอนาคต คาดว่าน่าจะมีการต่อยอดความรู้ต่างๆ เหล่านี้ให้กับเกษตรกรมากขึ้นนอกเหนือจากช่องทางโทรทัศน์ช่อง 5 โทรทัศน์ช่องอื่นๆ หรือแม้แต่ยูทูป และเฟสบุ๊คก็ถือว่าเป็นช่องทางที่น่าสนใจ”
นายอรรถวิชช์ วัชรพงศ์ชัย ผู้จัดการโครงการเบรีย GIZ กล่าวว่า “SRP ถือเป็นองค์รวมสู่การผลิตข้าวอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่ผลิตข้าวได้จำนวนเพิ่มขึ้น แต่ต้องลดต้นทุนการผลิตด้วย เราต้องคำนึงว่าจะทำอย่างไรให้ผลิตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือควรมีการต่อยอดสู่รุ่นต่อๆ ไปในอนาคต ขณะนี้ทางโครงการฯ กำลังจะจัดส่ง DVD ของแต่ละตอนในรายการไปยังโรงเรียนกว่า 50 แห่งทั่วประเทศ เพื่อถ่ายทอดความรู้ไปในวงกว้าง สิ่งที่เราทำไปจะต้องได้รับประโยชน์แก่เกษตรกรทุกคนและมันจะไม่สูญเปล่า”
นายธีรศักดิ์ อาบชาติ ผู้แทนกลุ่มเกษตรกรผู้เข้าร่วมแข่งขัน จังหวัดอยุธยากล่าวว่า “ผมว่าโครงการเบรียเป็นโครงการที่ดีมาก เพราะช่วยเหลือเกษตรกรได้จริง จะเห็นว่าเกษตรกรที่เข้ามามีส่วนร่วมในรายการได้รับความรู้มากขึ้น สามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวได้จริง ส่งผลให้เกษตรกรรายอื่นๆ ที่ได้รับชมรายการเกิดความสนใจ และติดต่อ สอบถามกันเข้ามาเยอะ เพราะอยากที่จะเข้ามาฝึกอบรมเพื่อลดต้นทุนการผลิต ผมถือว่านี่เป็นการต่อยอดองค์ความรู้ เพื่อความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน ผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดจากการเข้าร่วมโครงการนี้ คือ พวกเราสามารถลดต้นทุนการผลิตจาก 6,000 บาทต่อไร่ต่อเดือน เหลือไม่ถึง 3,000 บาทต่อไร่ และข้าวที่ได้ก็มีคุณภาพ”
ด้านนายพิชัย โสทะ ผู้แทนกลุ่มเกษตรกรผู้เข้าร่วมแข่งขัน จังหวัดนครสวรรค์ กล่าวเสริมว่า “รายการนี้ ทำให้เกษตรกรเห็นความสำคัญ มีหลายจังหวัด เช่น จังหวัดอุทัยธานี ชัยภูมิ สุรินทร์มาที่ศูนย์เรียนรู้ของเรา มาดูการปลูกเมล็ดพันธุ์ การปลูกถั่วเขียว เพราะจังหวัดทางภาคอีสานโดยปกติแล้วจะปลูกถั่วเขียวได้แค่ครั้งเดียว พวกเขาจึงอยากรู้ว่าปลูกถั่วเขียวหลังนา ต้องทำอย่างไร เพื่อเพิ่มผลผลิต นอกจากนี้เรายังได้มีการอบรมชาวนารุ่นจิ๋วที่จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อปูความรู้ให้กับพวกเขาตั้งแต่ยังเล็ก โตขึ้นจะได้เป็นชาวนาที่มีคุณภาพ นี่ก็ถือเป็นการถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่น”
ภายหลังจากการเสวนา ได้มีการประกาศผลคะแนนและผู้ชนะ พร้อมมอบโล่เกียรติยศและเงินรางวัลแก่ทีมเกษตรกรผู้เข้าร่วมการแข่งขัน อาจกล่าวได้ว่า โครงการฯ ประสบความสำเร็จในการนำเสนอความรู้ด้านการปลูกข้าวที่ยั่งยืนให้แก่เกษตรกร และในอนาคตโครงการฯ คาดหวังว่าจะมีการต่อยอด โดยต้องอาศัยแรงสนับสนุนและความร่วมมือของทั้งภาครัฐและเอกชน อันมีเป้าหมายให้เกษตรกรทั่วทั้งประเทศมีความรู้ที่ดีขึ้นในการใช้ปัจจัยการผลิตและการเข้าถึงตลาด ตลอดจนยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้แก่ชาวนาที่ได้ชื่อว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ