โครงการริเริ่มข้าวที่ดีขึ้นแห่งเอเชีย (เบรีย) ภายใต้การดำเนินงานขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) นำเสนอวิธีส่งเสริมการผลิตข้าวแบบยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยมาตรฐานเวทีเพื่อการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน (SRP) ซึ่งเป็นมาตรฐานความยั่งยืนสำหรับข้าวมาตรฐานแรกของโลกที่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN) และสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) ให้การสนับสนุน พร้อมร่วมเป็นเกียรติในพิธีมอบอุปกรณ์การทำเกษตรสำหรับชาวนาจำนวน 480 ราย เพื่อความปลอดภัยในการใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันและกำจัดโรคพืช ในงานประชุมและนิทรรศการข้าวเพื่อความยั่งยืน 2017 ที่ศูนย์การประชุมแห่งสหประชาชาติ (UNCC)
นางเนตรนภิส เอส ไนดู ผู้อำนวยการแผนกอารักขาพืช บริษัท บีเอเอสเอฟ (ไทย) จํากัด กล่าวว่า “ด้วยประชากรโลกที่กำลังเติบโตขึ้น ไม่เพียงแต่เกษตรกรจะต้องปลูกอาหารมากขึ้น แต่อาหารต้องสะอาด ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ ขณะเดียวกันเกษตรกรก็ต้องได้รับความปลอดภัยและสามารถรักษาคุณภาพของดินที่ทำการเพาะปลูกด้วย วันนี้จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่บริษัท บีเอเอสเอฟ (ไทย) จํากัด จะมอบ BASF Professional Farmer Kit ซึ่งเป็นอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยสำหรับเกษตรกร ซึ่งประกอบด้วยถุงมือ หน้ากาก แว่นใส่ป้องกัน พร้อมคู่มือคุณภาพได้มาตรฐานการรองรับจากทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป (EU) ให้แก่กรมการข้าว เพื่อนำไปมอบต่อให้กับศูนย์ข้าวชุมชนและเกษตรกรผู้ทำนาแปลงใหญ่จำนวน 480 ราย เพื่อความปลอดภัยต่อเกษตรกรในการใช้ผลิตภัณฑ์อารักขาพืช สอดคล้องกับข้อกำหนดของมาตรฐานเวทีเพื่อการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน (SRP)”
นางสาวลัดดา วิริยางกูร ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานการรับรองข้าว กรมการข้าว กล่าวว่า “กรมการข้าวมีจุดมุ่งหมายในการปรับปรุงการผลิตและผลผลิตของข้าวให้ปลอดภัยและยั่งยืน รวมทั้งเพิ่มคุณค่าของผลิตภัณฑ์ข้าวให้เป็นไปตามมาตรฐานตรงความต้องการของผู้บริโภคและตลาด โดยมุ่งเน้นที่การวิจัยและพัฒนาการผลิตข้าว สำหรับการประชุมและการจัดนิทรรศการครั้งนี้ เป็นเสมือนเวทีที่ให้เราแสดงศักยภาพและประกาศความมุ่งมั่นในการพัฒนาภาคการผลิตข้าวให้ยั่งยืนต่อไป นอกจากนี้ เรา พร้อมเป็นตัวแทนในการรับมอบอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยสำหรับเกษตรกร ให้แก่ศูนย์ข้าวชุมชนและเกษตรกรผู้ทำนาแปลงใหญ่จำนวน 480 ราย และเราเชื่อมั่นว่าเกษตรกรที่ได้รับจะมีความปลอดภัยในการทำงานมากขึ้น ส่งผลให้สุขภาพดีขึ้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้แข็งแกร่งขึ้น”
“ในประเทศไทย โครงการเบรียได้นำร่องการทดสอบมาตรฐาน SRP ในจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว ภายใต้ความร่วมมือกับกรมการข้าว การทดสอบนำร่องนี้ มุ่งเน้นที่การประเมินการประยุกต์ใช้มาตรฐานและการฝึกอบรมของเกษตรกร มาตรฐาน SRP ช่วยให้เกษตรกรสามารถปรับปรุงการทำนาของตนโดยใช้ทรัพยากรทางการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เบรียร่วมกับพันธมิตรภาครัฐและเอกชนถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตรให้กับเกษตรกร เพื่อเพิ่มการผลิตข้าว เพราะเราต้องการให้เกษตรกรมีอนาคตที่มั่นคง และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งเอื้อต่อการสร้างความมั่นคงด้านอาหารในระดับภูมิภาค” นายสุริยัน วิจิตรเลขการ ผู้อำนวยการโครงการ เบรีย ภูมิภาค กล่าว
ข้อมูลเพิ่มเติม
โครงการเบรีย ดำเนินการโดย GIZ โดยร่วมมือกับพันธมิตรในภาครัฐและเอกชนตั้งแต่ปีพ.ศ. 2556-2560 เพื่อส่งเสริมการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน เสริมสร้างห่วงโซ่คุณค่า เพิ่มรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว พัฒนาศักยภาพ และปรับปรุงโภชนาการ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะสามารถใช้แนวทางการทำการเกษตรที่ยั่งยืนเพื่อเพิ่มผลผลิต คุณภาพและรายได้ให้แก่เกษตรกร ตลอดจนสามารถเชื่อมโยงกับตลาดในประเทศได้ดียิ่งขึ้น และสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่มั่นคงกับโรงสีข้าว พันธมิตรของเบรีย ประกอบด้วย บีเอเอสเอฟ, ไบเออร์, รอยัล ดีเอสเอ็ม, ยารา, โอแลม, ธนาคาร ดอยซ์แบงก์ และหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมการข้าว กระทรวงเกษตรของฟิลิปปินส์ กระทรวงเกษตรอินโดนีเซีย และกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทของเวียดนาม
เวทีเพื่อการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน (SRP) จัดตั้งขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2554 โดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติและสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) เป็นผู้ให้การสนับสนุน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ความยั่งยืนในการค้า การผลิตและการบริโภค รวมทั้งห่วงโซ่อุปทานในภาคอุตสาหกรรมข้าวทั่วโลก
มาตรฐาน SRP ใช้กับการผลิตข้าวและกระบวนการหลังการเก็บเกี่ยว หลังจากการแนะนำมาตรฐานอย่างเป็นทางการ สมาชิก SRP ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรายย่อย กลุ่มเกษตรกรหรือที่ทำนาขนาดใหญ่ในหลายประเทศได้ทดลองนำมาตรฐาน SRP ไปปฏิบัติในระดับนำร่องกับที่นาหลายประเภท ซึ่งเบรียสนับสนุนการพัฒนาและรับรองมาตรฐาน SRP ในประเทศไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์
มาตรฐาน SRP ทำหน้าที่เสมือนเป็นกรอบความยั่งยืนในการทำเกษตรและเป็นรากฐานในการสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการในห่วงโซ่คุณค่า เนื่องจากตลาดมีบทบาทสำคัญ ดังนั้น จึงต้องสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตกับผู้ซื้อ เพื่อขับเคลื่อนห่วงโซ่คุณค่าที่ยั่งยืนทั้งในตลาดในประเทศและส่งออก
สำหรับภาพบรรยากาศงาน สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่ https://photos.app.goo.gl/2lq5Bl5PO7HkHIBn2