“ร้อยละ 37.1 ของหญิงตั้งครรภ์ ร้อยละ 28.1 ของเด็กอายุต่ำกว่าห้าปี และร้อยละ 26.4 ของเด็กนักเรียน ป่วยเป็นโรคโลหิตจาง” ตามการวิจัยด้านสุขภาพพื้นฐานในปี พ.ศ. 2556 ของกระทรวงสาธารณสุข อินโดนีเซีย
อินโดนีเซีย เป็นหนึ่งใน 17 ประเทศที่ประสบปัญหาภาวะโภชนาการของประเทศอยู่ในระดับเดียวกับประเทศในแอฟริกา ตามรายงานด้านโภชนาการของโลกโดยสถาบันวิจัยนโยบายด้านอาหารระหว่างประเทศ ประชากรของอินโดนีเซียยังคงบริโภคของวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นในปริมาณที่น้อยกว่าร้อยละ 50 จึงส่งผลให้เกิดโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (IDA) ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพร้ายแรงที่บั่นทอนการพัฒนาสติปัญญาของเด็กเล็ก และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการคลอดบุตร ตามการวิจัยด้านสุขภาพพื้นฐานในปีพ.ศ. 2556 ของกระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย ร้อยละ 37.1 ของหญิงตั้งครรภ์ ร้อยละ 28.1 ของเด็กอายุต่ำกว่าห้าปี และร้อยละ 26.4 ของเด็กนักเรียน ป่วยเป็นโรคโลหิตจาง
ในประเทศอินโดนีเซีย เบรียได้ดำเนินโครงการด้านข้าวและโภชนาการ ซึ่งโครงการโภชนาการได้เสร็จสิ้นลงในปีพ.ศ. 2559 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมภาวะโภชนาการในกลุ่มประชากรที่ยากจนในอินโดนีเซีย เบรียส่งเสริมมาตรการต่างๆ ที่ช่วยในการแก้ไขปัญหาการขาดธาตุอาหาร ได้แก่ (1) การส่งเสริมอาหารเสริมเพื่อผลในปัจจุบัน (2) การเสริมธาตุอาหารในอาหารเป็นมาตรการระยะกลางที่มีประสิทธิภาพสูง และ (3) การเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อการรับประทานอาหารที่มีสารอาหารทหลากหลาย วิธีเหล่านี้เป็นวิธีการแก้ปัญหาการขาดสารอาหารในระยะยาว ทำให้เข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ อย่างไรก็ตาม การเสริมธาตุอาหารในอาหาร สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้กว้างขึ้น โดยผ่านช่องทางของตลาดในปัจจุบัน
โครงการโภชนาการประกอบด้วยการเสริมสารอาหารในน้ำมันและในข้าว เพื่อปรับปรุงการรับประกันคุณภาพ (QA) และการควบคุมคุณภาพ (QC) สำหรับการเสริมวิตามินเอในน้ำมันเพื่อการบริโภค วัตถุประสงค์ที่สอง เพื่อเพิ่มการเข้าถึงข้าวที่เสริมสารอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มประชากรที่ยากจนและมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรค และท้ายสุดเพื่อส่งเสริมการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและมีสารอาหารที่หลากหลายในมื้ออาหารที่รับประทานเป็นประจำ
พันธมิตรของโครงการภาคเอกชนสำหรับกิจกรรมการเสริมสารอาหารในน้ำมันเพื่อการบริโภคและในข้าว ได้แก่ บีเอเอสเอฟ โภชนาการ, ดีเอสเอ็ม และ พันธมิตรเพื่อโภชนาการที่ดีขึ้นของโลก (GAIN) ส่วนพันธมิตรหลักที่เป็นภาครัฐคือ กระทรวงเกษตรของอินโดนีเซีย กระทรวงการวางแผนพัฒนาแห่งชาติ (BAPPENAS) รวมทั้งสำนักงานควบคุมอาหารและยาแห่งชาติของอินโดนีเซีย (BPOM) นอกจากนี้ สถาบันวิจัย โรงเรียน ผู้ค้าและผู้สีข้าว ยังมีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินกิจกรรมหลายอย่าง เช่น การเสริมสารอาหารในน้ำมัน การทดลองผลิตเมล็ด พรีมิกซ์ (เมล็ดสารอาหาร) สำหรับการเสริมธาตุอาหารในข้าว การวิจัยทางสังคมด้านตลาดสำหรับข้าวที่เสริมสารอาหาร การทดสอบทางคลินิกด้านประสิทธิภาพของข้าวที่เสริมสารอาหาร การประชุมเชิงปฏิบัติการของผู้มีส่วนได้เสีย ตลอดจนการฝึกอบรมด้านห่วงโซ่มูลค่าข้าวเพื่อส่งเสริมการสริมสารอาหารในข้าวในระดับต่างๆ
ข้าวมีความสำคัญยิ่งในอินโดนีเซีย ประมาณร้อยละ 95 ของชาวอินโดนีเซียบริโภคข้าวทุกวัน ปริมาณการบริโภคข้าวโดยเฉลี่ยในอินโดนีเซียคือ 197.1 กรัมต่อหัวต่อวัน ตามการศึกษาระหว่างประเทศ การเสริมสารอาหารในข้าว ส่งผลต่อการลดโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ซึ่งเบรียประสบความสำเร็จในการกระตุ้นความสนใจของภาคเอกชนที่ต้องการเข้าร่วมธุรกิจการเสริมสารอาหารในข้าว ด้วยเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตที่ได้รับการทดสอบและพิสูจน์ในประเทศ เบรียส่งเสริมการเสริมสารอาหารในข้าวพันธุ์ท้องถิ่นที่เหมาะสำหรับความต้องการทางโภชนาการและความนิยมของตลาดในอินโดนีเซีย บริษัททั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่แสดงความสนใจที่จะผลิตพรีมิกซ์และข้าวเสริมสารอาหาร
นอกจากนี้ โครงการโภชนาการของเบรีย ยังพยายามที่จะปรับปรุงสุขภาพและคุณภาพชีวิตของครัวเรือนเป้าหมายในอินโดนีเซีย โดยการส่งเสริมความหลากหลายและคุณภาพของการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่สูงขึ้นในแต่ละมื้อด้วยข้อความรณรงค์โภชนาการจากการบริโภคอาหารซึ่งได้รับการพัฒนา ทดสอบและเผยแพร่แก่ชาวอินโดนิเซียกลุ่มใหญ่
ผลลัพธ์เชิงบวกและความท้าทายทางโภชนาการที่ยังเหลืออยู่ในอินโดนีเซีย นำไปสู่ข้อเสนอแนะในท้ายสุดว่าควรมีการดำเนินโครงการโภชนาการต่อ เนื่องจากการแก้ไขข้อกำหนดกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อให้สอดคล้องตามบทบัญญัติของน้ำมันปาล์มปรุงอาหารที่ได้รับการเสริมสารอาหาร ซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือนมีนาคม 2559 เป็นต้นไป จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนเพื่อการดำเนินการในระดับอุตสาหกรรมและภาคพื้นดิน