“มาตรฐาน SRP เพื่อการเพาะปลูกข้าวอย่างยั่งยืน นับเป็นมาตรฐานเพื่อการพัฒนาข้าวอย่างยั่งยืนมาตรฐานแรกของโลก”
เพื่อช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคการผลิตข้าวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เบรียได้ดำเนินกิจกรรมด้านต่างๆ ร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย นอกจากนี้ สำนักเลขาธิการเบรียภูมิภาค ยังได้เข้าร่วมเวทีต่างๆ เพื่อสนับสนุนภาคการผลิตข้าวและเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรรายย่อย
เวทีเพื่อการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน (Sustainable Rice Platform หรือ SRP) เป็นอีกหนึ่งเวทีที่สำคัญ ซึ่งโครงการเบรียเป็นสมาชิกมีภารกิจในการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความยั่งยืนในภาคการผลิตข้าวของโลก และมีจุดประสงค์ที่จะนำเสนอเครื่องมือนี้ในการนำไปใช้ส่งเสริมการปฏิบัติ ในการทำการเกษตรที่ดีที่สุดได้อย่างยั่งยืนและกว้างขวาง มาตรฐาน SRP เพื่อการเพาะปลูกข้าวอย่างยั่งยืน นับเป็นมาตรฐานเพื่อการพัฒนาข้าวอย่างยั่งยืนมาตรฐานแรกของโลกและ SRP ได้กำหนดกรอบการปฏิบัติที่ดีที่สุดในการเพาะปลูกข้าวอย่างยั่งยืนที่เท่าทันสภาพภูมิอากาศไม่ว่าในระบบการปลูกข้าวใดๆ มาตรฐานนี้ได้รับการพัฒนาโดยคณะทำงานของ SRP และได้รับการแนะนำเป็นครั้งแรกในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558 พร้อมด้วยตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพ (Performance Indicators (PIs) ที่พัฒนาโดยสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) ซึ่งเป็นเครื่องมือเชิงปริมาณในการวัดผลกระทบของการยอมรับของมาตรฐาน หรือกิจกรรมอื่นๆ เพื่อการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน ในขณะนี้ SRP กำลังมุ่งเน้นไปที่การทดสอบการนำมาตรฐานไปดำเนินการในภาคสนามในประเทศต่างๆ รวมทั้งตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพ และระบบการรับประกัน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่
เบรียร่วมดำเนินการอยู่ด้วย
เบรียสนับสนุนการพัฒนาและการยอมรับของมาตรฐาน SRP ในสี่ประเทศที่ดำเนินโครงการ นอกเหนือจากกิจกรรมเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรแล้ว เบรียยังมีการศึกษานำร่องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการทดสอบมาตรฐานในภาคสนามในประเทศต่างๆ เพื่อประเมินการนำไปใช้ ความเกี่ยวข้อง และการยอมรับของมาตรฐานของเกษตรกรในโครงการ รวมทั้งดำเนินแผนการประกันและจัดทำระบบการจัดการภายใน (Internal Management System หรือ IMS) สำหรับเกษตรกร ในประเทศที่ผลิตข้าวที่สำคัญ เบรียดำเนินการในกิจกรรมเหล่านี้ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นและพันธมิตรภาคเอกชน
กรมการข้าว ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เบรีย โอแลม อินเตอร์เนชั่นแนลและไบเออร์ ได้ร่วมกันริเริ่มการทดสอบนำ ร่องมาตรฐาน SRP กับกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดอุบลราชธานี โดยกรมการข้าว โอแลมและไบเออร์ ต่างเป็นสมาชิกของ SRP ที่มีอยู่ทั้งสิ้น 55 องค์กร นอกจากนี้ โอแลม ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ ที่สำคัญยังเป็นพันธมิตรในกิจกรรมการเชื่อมโยงตลาดของเบรีย และการทดสอบนำร่องของมาตรฐานในประเทศไทยยังถือว่าเป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อปรับปรุงการเข้าถึงตลาดสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่แห่งนี้อีกด้วย
เบรียประเทศไทยและอินโดนีเซีย ได้เข้าร่วมในการทดสอบนำร่องมาตรฐาน SRP โดยในประเทศไทย การทดสอบนำร่อง ครอบคลุมการประเมินผลของการนำมาตรฐานไปใช้ การฝึกอบรมเกษตรกร การจัดทำระบบ IMS และระบบการประกันกลุ่มในประเทศอินโดนีเซีย และยังได้สำรวจเกษตรกรในการประเมินการปฏิบัติของเกษตรกรตามมาตรฐาน SRP อีกด้วย
ในปีนี้ การทดสอบนำร่องของมาตรฐาน SRP ในประเทศไทยได้รับการรองรับผ่านการตรวจสอบโดยบุคคลที่ 3 ผลการตรวจสอบแสดงให้เห็นถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพในการเพาะปลูก เมื่อเทียบกับผลการสำรวจพื้นฐาน เกษตรกร 28 รายจากศูนย์ข้าวชุมชนตำบลบัวงาม และเกษตรกร 43 รายจากศูนย์ข้าวชุมชนตำบลกลาง มีการพัฒนาการปลูกข้าวอย่างยั่งยืน (ตามที่ระบุไว้ในแนวทางการตรวจรับประกันและสื่อสารในช่วงระยะการนำร่อง) ตามการประเมินที่เป็นอิสระโดยบุคคลที่ 3 ในครั้งนี้ ระดับการปฏิบัติตามมาตรฐาน SRP เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 84 เมื่อเทียบกับมาตรฐาน SRP เพื่อการเพาะปลูกข้าวอย่างยั่งยืนเนื่องจากการปรับปรุงในระดับการทำการเกษตรอาจจะไม่เพียงพอ
เบรียเชื่อว่ามาตรฐาน SRP จะนำเสนอรูปแบบธุรกิจที่มีนวัตกรรมในการช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจของผู้ประกอบการในห่วงโซ่มูลค่าข้าวและเพื่อเพิ่มศักยภาพในการเชื่อมโยงตลาด
ในประเทศอินโดนีเซีย การสำรวจเพื่อการประเมิน ได้ทำโดยมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ในปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน ปีพ.ศ. 2559 เกษตรกรในโครงการจากสามอำเภอได้แก่ เซอร์ดัง เบดาไก ลังกัท และ เดลิ เซอร์ดัง ในจังหวัดสุมาตราเหนือ ได้รับการคัดเลือกตามผลการประเมินตนเอง ในครั้งนี้ เกษตรกรมีผลการปฏิบัติตามมาตรฐานที่คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 68.7 ผลการศึกษาในครั้งนี้จะใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบการประเมินโดยกระทรวงเกษตรในการยอมรับมาตรฐาน SRP ในประเทศอินโดนีเซียต่อไป
ผลที่ได้จากการศึกษานำร่องในปีนี้ จะถูกรวบรวมและจัดทำเป็นข้อเสนอแนะให้กับ SRP เพื่อใช้ปรับปรุงมาตรฐานและระบบการรับประกัน เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้วอาจสรุปได้ว่ามาตรฐานนี้ได้รับการพิสูจน์ว่า เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการประเมินผลของการปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว และเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบผลกระทบเพื่อระบุความเสี่ยงและสิ่งที่ยังต้องปรับปรุงอีกด้วย