ภายหลังวิกฤติโควิด-19 บริษัทและรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยหลายๆประเทศและธุรกิจได้ประกาศ “ปฏิบัติการแข่งขันเพื่อคาร์บอนเป็นศูนย์” หรือ “Race to Zero” แทนการกลับไปทำธุรกิจที่มุ่งแต่ผลกำไรแบบเดิม
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2563 คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ประกาศเจตนารมณ์ “ปฏิบัติการแข่งขันเพื่อคาร์บอนเป็นศูนย์” หรือ “Race to Zero” ในงานประชุม Climate Week NYC ของสหประชาชาติ คุณศุภชัยกล่าวว่า “ในฐานะกลุ่มบรรษัทผู้นำของเอเชียที่มีธุรกิจหลักด้านอาหารและการเกษตร เครือซีพีมีบทบาทในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของภาคการเกษตร และส่งเสริมให้ผู้บริโภคเลือกรับประทานอาหารที่ยั่งยืนมากขึ้น ทั้งนี้เครือซีพีมีความมุ่งมั่นและมีเป้าหมายในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ.2573 โดยการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและสร้างสรรค์นวัตกรรม รวมถึงการทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรและนักลงทุนทั้งหลายของเราจากหลากหลายธุรกิจในเครือทั่วโลก”
รายงานข่าวบนเว็บไซต์ของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ระบุว่านายศุภชัย พูดถึงความมุ่งมั่นและเป้าหมายขององค์กรว่า “การลดก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ควรเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดความสามารถของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทุกบริษัทเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ขยายผลได้”
อีกหนึ่งบริษัทที่ประกาศเจตนารมณ์ “Race to Zero” คือ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ซึ่งอยู่ภายใต้เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดย นายอนันต์ วัชรพงษ์วินิจ ผู้อำนวยการ ฝ่ายก่อสร้างและสถานที่ ได้เล่าถึงที่มาของความสนใจในเทคโนโลยีทำความเย็นสีเขียวว่า “กว่าร้อยละ 30-40 ของค่าไฟมาจากระบบเครื่องทำความเย็น” ดังนั้น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากส่วนนี้จะช่วยให้บริษัทสามารถบรรลุเป้าของบริษัทในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์
ปัจจุบันแม็คโครมีสาขารวมทั้งหมด 130 สาขาทั่วประเทศ และมีองค์ความรู้และประสบการณ์การใช้อุปกรณ์เครื่องทำความเย็น ตู้แช่ที่ใช้สารไฮโรคาร์บอนมากว่า 14 ปี โดยสาขาใหม่ที่จะเปิดนั้น บริษัทสนใจที่จะลงทุนในระบบ water-loop หากมีการสนับสนุนทางด้านการเงินและเทคนิคจากทางภาครัฐ
ปัจจุบัน บริษัทใหญ่ๆ หลายแห่งในประเทศไทยได้เริ่มให้ความสำคัญกับการเลือกใช้เทคโนโลยีทำความเย็นสีเขียว โดยได้แนะนำหรือจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องทำความเย็นที่ประหยัดไฟ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณที่ดีต่อการเติบโตของธุรกิจภาคทำความเย็นสีเขียว ด้วยเหตุนี้ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ ในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น (RAC NAMA) จึงได้เดินหน้าผลักดันการใช้สารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในหมู่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง
โดยระหว่างเดือนตุลาคม – เดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 โครงการ RAC NAMA และหน่วยงานผู้ร่วมดำเนินงานโครงการได้จัดประชุมหารือกับบริษัทชั้นนำในไทย เช่น ธุรกิจค้าปลีก อาหาร โรงแรม โรงพยาบาล เป็นต้น เพื่อเสริมสร้างความรู้ในเรื่องสารทำความเย็นธรรมชาติและทำความเข้าใจในเรื่องแนวทางการดำเนินธุรกิจของฝั่งผู้บริโภคให้มากขึ้นอีกด้วย
จากการประชุมหารือกับภาคธุรกิจพบว่า ราคาของอุปกรณ์เครื่องทำความเย็นนั้นไม่ใช่ประเด็นหลัก หากแต่มีประเด็นอื่นๆ ที่ประกอบการพิจารณาการเลือกซื้อเทคโนโลยี เช่น ค่าใช้จ่ายตลอดอายุการใช้งาน ค่าประหยัดพลังงาน ความน่าเชื่อถือ การบริการหลังการขาย และจำนวนผู้ผลิตที่สามารถผลิตสินค้าได้ในขณะนั้น เป็นต้น ด้วยปัญหาโลกร้อนที่กำลังเป็นประเด็นที่น่าสนใจของประชาชน และความต้องการเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้หลายบริษัทที่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์การทำความเย็นหันมาสนใจเทคโนโลยีการทำความเย็นสีเชียวผ่านสารไฮโดรคาร์บอนมากขึ้น ด้วยค่าศักยภาพการทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน (ODP – Ozone Depleting Potential) เท่ากับศูนย์ และค่าศักยภาพในการทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน (GWP – Global Warming Potential) ที่ต่ำมาก นอกจากนี้ การใช้สารทำความเย็น R290 ยังสามารถลดการใช้พลังงานให้น้อยลงได้ถึงร้อยละ 5 – 25 และมีคุณสมบัติในการถ่ายเทความร้อนในระบบทำความเย็นที่ดีเยี่ยม นำไปสู่การพัฒนาเครื่องปรับอากาศที่มีคุณภาพสูง ที่ประหยัดพลังงานและค่าไฟฟ้าได้
บทบาทของภาคธุรกิจในการมุ่งมั่นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทำให้เทคโนโลยีทำความเย็นสีเขียวได้รับความสนใจจากภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก อันเนื่องมาจากข้อดีของสารทำความเย็นธรรมชาติในด้านการประหยัดไฟและลดโลกร้อน ซึ่งลดการใช้พลังงานให้น้อยลงได้ถึงร้อยละ 5 – 25 ด้วยคุณสมบัติในการถ่ายเทความร้อนในระบบทำความเย็นที่ดีเยี่ยม
ข้อมูลจากการหารือกับภาคธุรกิจนี้ ทางโครงการจะนำไปประกอบการออกแบบมาตรการการสนับสนุนทางด้านการเงินของกองทุน Cooling Innovation ภายใต้การดำเนินการและกำกับดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่คาดว่าจะเริ่มขึ้นในกลางปีพ.ศ. 2564 นี้ ในเบื้องต้นนั้น กองทุนมีจุดประสงค์เพื่อผลักดันการใช้เทคโนโลยีทำความเย็นสีเขียว ส่งเสริมนวัตกรรมด้านการทำความเย็น และการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน และขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อออกแบบความช่วยเหลือทางด้านการเงินให้กับบริษัทที่สนใจนำนวัตกรรมสีเขียวเข้าไปใช้ในโครงการนำร่อง และมีแผนการที่จะขยายผลไปยังสาขาอื่นๆ หากสามารถตอบโจทย์ทางด้านธุรกิจและการลดการใช้พลังงาน
คาดการณ์ว่าภายในปีพ.ศ. 2573 จะมีผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีสารทำความเย็นธรรมชาติออกสู่ตลาดในประเทศกว่า 100,000 เครื่อง โดยคิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดกว่าร้อยละ 30
จะเห็นได้ว่า วิกฤติโควิต-19 ครั้งนี้ นำมาซึ่งโอกาสในการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีทำความเย็นไปสู่เทคโนโลยีทำความเย็นสีเขียว โดยมีการคาดการณ์ว่าความต้องการใช้อุปกรณ์ทำความเย็นสีเขียวจะมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากขณะนี้บริษัทใหญ่ๆ ของโลกหลายแห่งได้ปรับมาใช้และออกนโยบายส่งเสริมการใช้อุปกรณ์ทำความเย็นที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมแล้ว
โครงการ RAC NAMA เริ่มดำเนินโครงการในเดือนเมษายน พ.ศ. 2559 โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นในการถ่ายทอดด้านเทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีความเย็นสีเขียว กว่าสองปีที่ผ่านมา กองทุน RAC NAMA ภายใต้การบริหารจัดการกองทุนโดยกฟผ. ได้ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารทำความเย็นธรรมชาติ ทั้งด้านการผลิต การบริโภค และภาคบริการ นอกจากนี้ โครงการฯ ยังดำเนินการด้านนโยบาย โดยสนับสนุนรัฐบาลไทยในการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (NDC) ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้ต่อปีอยู่ที่ 0.94 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ระยะเวลาดำเนินโครงการถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564