สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมกับ GIZ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่อง “การผลิตและพัฒนากำลังคนกลุ่มอาชีพเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น” ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ ในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น (RAC NAMA) ณ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพื่อฝึกอบรมครูในสถานศึกษาให้มีความชำนาญด้านการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า “สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีภารกิจเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน และส่งเสริมการฝึกอบรมด้านวิชาชีพ โดยคำนึงถึงคุณภาพและความเป็นเลิศทางวิชาชีพ ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่อง “การผลิตและพัฒนากำลังคนกลุ่มอาชีพเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น” ในครั้งนี้จะส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาในด้านเทคโนโลยีเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นให้ได้มาตรฐานและเท่าทันกับเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันที่ก้าวกระโดด ซึ่ง สอศ. และ GIZ ได้ตกลงแสดงเจตนารมณ์ร่วมกัน โดยจะจัดการฝึกอบรมและพัฒนาการจัดการเรียนการสอนด้านเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นให้กับครูในสถานศึกษา การถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคนิคใหม่ๆ ด้านเทคโนโลยีของเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น พร้อมกันนี้ GIZ จะให้คำปรึกษาด้านอุปกรณ์และเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการฝึกอบรม รวมไปถึงร่วมกันพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน ทำมาตรฐานการจัดฝึกอบรม และออกใบวุฒิบัตรเพื่อเป็นการรับรองด้วย”
“ทั้งนี้ ครูในสถานศึกษาที่เข้ารับการอบรมจะเกิดทักษะ ความเชี่ยวชาญ และสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดให้กับนักศึกษาให้มีวิชาชีพด้านเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น เพื่อรองรับการผลิตกำลังคนด้านวิชาชีพให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการในการพัฒนาประเทศต่อไป” ดร.สุเทพ กล่าวเสริม
ด้าน มร.ทิม มาเลอร์ ผู้อำนวยการโครงการ RAC NAMA ของ GIZ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เป็นหนึ่งในแผนการดำเนินงานของโครงการฯ เพื่อผลิตและเพิ่มศักยภาพกำลังคนกลุ่มอาชีพเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น โดยมีแผนร่วมกันพัฒนาหลักสูตรที่เน้นการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยตามหลักสากล รวมทั้งจัดฝึกอบรมนำร่องให้กับครูในสถานศึกษาโดยส่งผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาให้ความรู้ ซึ่งโครงการฯ ตั้งเป้าให้มีผู้ผ่านการฝึกอบรมจำนวน 2,000 รายตลอดระยะเวลาโครงการจนถึงเดือนมีนาคม 2564 นอกจากนี้ โครงการฯ ยังมีเงินอุดหนุนเพื่อใช้ในการจัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับการฝึกอบรมนำร่องภายใต้โครงการฯ ดังนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้ จึงถือเป็นโอกาสสำคัญในการสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนระดับอาชีวศึกษาของไทยให้มีความเป็นเลิศและได้มาตรฐานระดับสากล ควบคู่กับการพัฒนาขีดความสามารถของกำลังคนด้านเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น”