กองทุน NAMA Facility ได้ร่วมจัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “ความมุ่งมั่นในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” (Inspiring Ambitious Action on Climate Change – The NAMA Facility Workshop 2018) ในการประชุมนานาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กรุงบอนน์ (The Bonn Climate Change Conference) ที่จัดขึ้นที่ประเทศเยอรมนี ระหว่างวันที่ 30 เมษายนถึง 10 พฤษภาคม ปี พ.ศ.2561 และยังมีการจัดกิจกรรมคู่ขนานและการจัดแสดงนิทรรศการต่างๆ เพิ่มเติมภายใต้แนวคิด “การเร่งรัดการดำเนินงานตามข้อตกลงปารีส“ (Accelerating implementation of the Paris Agreement) เพื่อเจรจาเกี่ยวกับการดำเนินงานตามข้อตกลงปารีส เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 24 (COP24) ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้
ในโอกาสนี้ คณะผู้แทนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะผู้จัดการเงินทุนโครงการของกองทุน RAC NAMA ได้เข้าร่วมการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ปีพ.ศ. 2561 โดยนางสาวอัญชลี เนติกุล นักวิทยาศาสตร์ระดับ 9 ฝ่ายสิ่งแวดล้อมโครงการจากกฟผ. ได้รับเชิญเป็นวิทยากรนำเสนอเกี่ยวกับกองทุน RAC NAMA ของประเทศไทยในหัวข้อ “การเสริมสร้างจุดมุ่งหมายทางการเงิน ในแผนการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศและการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” (Enhancing Financial Ambition in NAMAs and Climate Mitigation) โดยมีผู้แทนจากสถาบันการเงินต่างๆ อาทิ ผู้แทนจาก Global Green Growth Institute, Climate Policy Initiative และ Green Climate Fund เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเสวนาร่วมกัน
ระหว่างการบรรยาย นางสาวอัญชลี ได้เน้นย้ำว่ากองทุน RAC NAMA มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ ในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น (RAC NAMA) ในประเทศไทย เพราะถือเป็นกองทุนการเงินเพื่อการลดโลกร้อนกองทุนแรกของประเทศไทยที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุน NAMA Facility และเป็นหนึ่งในโครงการแรกเริ่มของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย โดยกองทุนที่ใช้บริหารการดำเนินงานจำนวน 8.3 ล้านยูโร (ประมาณ 320 ล้านบาท) นี้ จะถูกแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือ เงินอุดหนุนให้แก่ผู้ผลิตสำหรับการเปลี่ยนสายการผลิต และเงินอุดหนุนเพื่อการอบรมและการทดสอบผลิตภัณฑ์ และส่วนที่สองคือ เงินทุนหมุนเวียนที่เป็นหนึ่งมาตรการจูงใจทางการเงินให้แก่ผู้ผลิตและผู้ใช้ เพื่อส่งเสริมตลาดของอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูงและใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งในการบริหารกองทุนฯ รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการสนับสนุนเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการ RAC NAMA จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ตั้งไว้ด้วย
กองทุน RAC NAMA ของประเทศไทย จัดตั้งขึ้นภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ ในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น (RAC NAMA) ในประเทศไทย โดยมีกฟผ. รับหน้าที่เป็นผู้จัดการเงินทุนโครงการของกองทุน RAC NAMA ในนามรัฐบาลไทย กฟผ. ได้ลงนามสัญญาให้ทุนกับ GIZ ไปเมื่อเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2560 ดังนั้น กฟผ. จึงมีบทบาทสำคัญในการบริหารเงินทุนและพัฒนามาตรการจูงใจทางการเงินเพื่อส่งเสริมการผลิตและการใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพพลังงานสูงและใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ