โครงการดำเนินงานด้านกรดไนตริกเพื่อสภาพภูมิอากาศ (Nitric Acid Climate Action Group: NACAG) ประจำประเทศไทย โดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการ NACAG กำลังเตรียมการจัดทำข้อตกลงทางการเงินกับบริษัท ไนเตรทไทย จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตกรดไนตริกแห่งเดียวของประเทศไทย ณ จังหวัดระยอง เพื่อติดตั้งเทคโนโลยีการลดก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) รวมทั้งศึกษาทางเลือกเชิงนโยบาย กรอบหลักเกณฑ์ และระบบการติดตามและรายงานผล อันสอดคล้องกับเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดของไทยในการร่วมแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก
โครงการ NACAG ประจำประเทศไทย ได้เข้าพบ ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา เพื่อแลกเปลี่ยนและเน้นย้ำถึงความร่วมมือภายใต้โครงการฯ รวมทั้งยังได้เยี่ยมชมกระบวนการผลิตกรดไนตริกในโรงงานของบริษัท ไนเตรทไทย จำกัด จังหวัดระยอง ร่วมกับผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทยและ สผ. เพื่อหารือถึงความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการ ตลอดจนแลกเปลี่ยนประเด็นที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีในการลดก๊าซไนตรัสออกไซด์และความร่วมมือในอนาคต
ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า “เป็นที่ทราบกันดีว่า ก๊าซไนตรัสออกไซด์เป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลกระทบต่อโลกเป็นอย่างมาก จึงเป็นการดีที่โครงการ NACAG จะเข้ามาสนับสนุนและประสานงานกับประเทศไทยในการดำเนินการยุติการปล่อยก๊าซดังกล่าวอย่างถาวรจากกระบวนการผลิตกรดไนตริกของประเทศ ผ่านการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ”
ดร. อังคณา เฉลิมพงศ์ ผู้อำนวยการโครงการ NACAG ประจำประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “NACAG เป็นโครงการริเริ่มในระดับสากล จัดตั้งโดยกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณูและคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV) เพื่อสนับสนุนประเทศภาคีต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทย ในการให้คำแนะนำเชิงนโยบาย การปรึกษาเชิงเทคนิค และการสนับสนุนทางการเงินเพื่อจัดซื้อและติดตั้งเทคโนโลยีในการลดก๊าซไนตรัสออกไซด์ ประเทศไทยได้ลงนามในเอกสารถ้อยแถลงเพื่อดำเนินการ (Statement of Undertaking: SoU) เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการแสดงเจตจำนงที่จะมุ่งสู่การหยุดการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์และลดผลกระทบอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป โดยในขณะนี้ โครงการ NACAG ประจำประเทศไทย ได้ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการ NACAG และ สผ. กำลังดำเนินการหารืออย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชน รวมทั้งกำลังดำเนินการวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับทางเลือกเชิงนโยบาย และกลไกการติดตามและประเมินผลที่สอดคล้องกับวิธีการรายงานผลและเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศของประเทศ”
นายมอลตี้ เพลว่า ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักเลขาธิการ NACAG กล่าวว่า “NACAG มีภาคีเครือข่ายกว่า 30 ประเทศทั่วโลก โดยมี 8 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ที่ได้ลงนามใน SoU ซึ่งแสดงเจตจำนงในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ภาคส่วนการผลิตกรดไนตริกที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ โดยในประเทศไทย มีบริษัทผลิตกรดไนตริกเพียงแห่งเดียวที่สามารถรับการสนับสนุนจากโครงการฯ ได้แก่ บริษัท ไนเตรทไทย จำกัด (TNC) ซึ่งมีการปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกกว่า 180,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยหลังจากการสอบทานทางธุรกิจ (Due Diligence) แล้วเสร็จทั้งทางด้านเทคนิคและด้านพาณิชย์ จะมีการลงนามในข้อตกลงการให้ทุน (Grant Agreement) ระหว่าง NACAG และ TNC ตามด้วยการจัดซื้อ ติดตั้ง และใช้งานเทคโนโลยีการลดก๊าซไนตรัสออกไซด์ นอกจากนี้ โอกาสการขยายขอบเขตการดำเนินโครงการให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมการผลิตคาโปรแลคตัมตามความสนใจของรัฐบาลไทยก็กำลังอยู่ในช่วงของการพิจารณาศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility Study) ของโรงงานผลิตคาโปรแลคตัมแห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งได้แก่ บริษัท อูเบะ เคมิคอลส์ (เอเชีย) จำกัด มหาชน เมื่อวันที่ 15-17 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา”