วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2564 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพฯ – นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงนามและมอบเอกสารถ้อยแถลงเพื่อดำเนินงานของกลุ่มดำเนินงานด้านกรดไนตริกเพื่อสภาพภูมิอากาศ Nitric Acid Climate Action Group (NACAG) ให้กับนายเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย ในนามรัฐบาลประเทศเยอรมัน ถ้อยแถลงดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนารมณ์ในการดำเนินการยุติการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยพิธีการจัดในรูปแบบออนไลน์จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและสถานทูตเยอรมัน
ก๊าซไนตรัสออกไซด์เป็นก๊าซเรือนกระจกที่สร้างผลกระทบให้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุดชนิดหนึ่ง และมีค่าศักยภาพในการทำให้โลกร้อนมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 265 เท่า ก๊าซไนตรัสออกไซด์นี้พบมากที่สุดในอุตสาหกรรมการผลิตกรดไนตริก ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเคมีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตปุ๋ย อย่างไรก็ตาม การปล่อยก๊าซนี้สามารถลดลงได้ด้วยเทคโนโลยีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำและมีประสิทธิภาพ
กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ และความปลอดภัยทางปรมาณู สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU) ได้ก่อตั้ง NACAG ขึ้นมาเพื่อให้การสนับสนุนด้านเทคนิคและการเงินให้กับประเทศต่างๆ โดยมีการดำเนินงานองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เพื่อกระตุ้นให้ประเทศสมาชิกจะยุติการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์จากอุตสาหกรรมการผลิตกรดไนตริก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป ประเทศไทยได้ตระหนักถึงปัญหาที่โลกและประเทศไทยต้องเผชิญ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ลงนามในปฏิญญาว่าด้วยการลดก๊าซไนตรัสออกไซด์ ในการผลิตกรดไนตริก (Declaration on N2O Mitigation in Nitric Acid production) ระหว่างการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 25 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศสเปน ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 ในการดำเนินการเพื่อสนับสนุนเป้าหมายของ NACAG นี้จะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) ของประเทศไทย ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20-25 จากระดับปกติ ภายในปี พ.ศ. 2573 โครงการด้านนโยบาย ภายใต้แผนงานความร่วมมือไทย – เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้ GIZ จะเป็นผู้ประสานการดำเนินงานกับ NACAG โดยจะสนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศไทยติดตั้งเทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ สร้างขีดความสามารถให้กับบุคลากร บำรุงรักษา ติดตามและประเมินผล เพื่อให้มั่นใจว่าการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ จะถูกกำจัดออกจากวงจรการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ การดำเนินโครงการนี้เริ่มต้นในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 นอกจากนี้ โครงการยังดำเนินการร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมโรงงานอุตสาหกรรม และหน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาเครื่องมือเชิงนโยบายที่จะช่วยให้การยุติการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยให้เป็นไปอย่างยั่งยืน ประเทศไทยมีโรงงานผลิตกรดไนตริก 1 แห่ง ศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ของอุตสาหกรรมการผลิตกรดไนตริกนี้อยู่ที่ประมาณ 180,000 t CO2e ต่อปี (เทียบเท่ากับการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ 12 ล้านต้น )[1]
นายวราวุธ ศิลปอาชา กล่าวว่า “ประเทศไทยมีความตั้งใจในการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ ทั้งนี้เราดำเนินงานร่วมกับกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ และความปลอดภัยทางปรมาณู สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU) สำนักเลขาธิการ NACAG และ GIZ เพื่อร่วมกันปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์เพื่อยุติการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์จากการผลิตกรดไนตริกทั่วโลก… ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สิ่งที่เราจะได้เรียนรู้จาก NACAG จะช่วยให้เราสามารถสานต่อความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและประเทศเยอรมันเพื่อเสริมสร้างการดำเนินการในภาคส่วนอื่นๆ ผมเชื่อว่าความร่วมมือของทั้งสองประเทศมาสร้างประโยชน์ร่วมกัน จะเป็นการสร้างความไว้วางใจและรากฐานที่มั่นคงในการดำเนินงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีส”
“การแก้ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นสามารถทำได้หลายแง่มุม กลุ่มดำเนินงานด้านกรดไนตริกเพื่อสภาพภูมิอากาศ หรือ NACAG ก็เป็นหนึ่งในการแก้ปัญหา NACAG ก่อตั้งโดยรัฐบาลประเทศเยอรมัน และมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนประเทศสมาชิกทั่วโลกในการดำเนินการหยุดการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์จากการผลิตกรดไนตริก ผมมีความยินดีอย่างยิ่งที่ประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศที่หกของโลก เข้าร่วมดำเนินการกับ NACAG และมีความมุ่งมั่นที่จะปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมการผลิตกรดไนตริกให้เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ ในประเทศไทยนั้นศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์อยู่ที่มากกว่า 180,000 ตันต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับเที่ยวบินไปกลับระหว่างกรุงเทพฯ – เบอร์ลิน 65,000 เที่ยว การดำเนินงานนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในความร่วมมือไทย – เยอรมันในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” นายเกออร์ก ชมิดท์ กล่าว
กลุ่มดำเนินงานด้านกรดไนตริกเพื่อสภาพภูมิอากาศ (NACAG)
กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ และความปลอดภัยทางปรมาณู สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้ริเริ่มกลุ่มดำเนินงานด้านกรดไนตริกเพื่อสภาพภูมิอากาศ และประกาศในการประชุม COP 21 ณ กรุงปารีส เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลดก๊าซไนตรัสออกไซด์จากการผลิตกรดไนตริกในระยะยาวอย่างยั่งยืน โดย NACAG ให้การสนับสนุนทางเทคนิคและการเงินกับประเทศที่เข้าร่วม โดยมีเงินทุน 70 ล้านยูโร คาดว่าจะสามารถลดก๊าซไนตรัสออกไซด์ได้มากกว่าหนึ่งพันล้านตัน เทียบเท่ากับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี พ.ศ. 2573
วิดีโอเกี่ยวกับ NACAG
https://www.international-climate-initiative.com/en/infotheque/videos/film/show_video/show/the_nitric_acid_climate_action_group
[1] โดยใช้อัตราการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวน 15 กิโลกรัม ต่อต้นไม้ 1 ต้น