ความเป็นมา
ประเทศไทยตั้งเป้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) ให้ได้ร้อยละ 20 – 25 จากกรณีปกติภายในปี พ.ศ. 2573 และกำหนดมาตรการและเป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับการดำเนินงานระหว่าง พ.ศ. 2564 – 2573 โดยมุ่งเน้นการใช้พลังงานหมุนเวียน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การขนส่งอย่างยั่งยืน อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการจัดการขยะ นอกจากนี้ยังได้กำหนดการดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งหมด 6 สาขาได้แก่ การจัดการน้ำ เกษตรกรรม สาธารณสุข การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การท่องเที่ยว และการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์
ความท้าทายที่สำคัญสำหรับประเทศไทย คือการนำเป้าหมายและหน้าที่ความรับผิดชอบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสู่การปฏิบัติในแต่ละภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งการเพิ่มขีดความสามารถในด้านการทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจก การประเมินความเสี่ยงและความเปราะบางจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยใช้หลักทางวิทยาศาสตร์นั้นมีความสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบายของหน่วยงานภาครัฐ ที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์
วัตถุประสงค์
เพื่อให้รัฐบาลไทยมีศักยภาพและความสามารถในการพัฒนานโยบายเข้าสู่ภาคส่วนต่าง ๆ สามารถปรับตัวต่อเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมุ่งสู่การเป็นประเทศที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์
แนวทางการดำเนินงาน
ผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศทำงานอย่างใกล้ชิดกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในการพัฒนานโยบายของประเทศในด้านต่าง ๆ ทั้งการดำเนินงานในระดับท้องถิ่น การตรวจวัด การรายงานและทวนสอบ การติดตามและประเมินผลการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสนับสนุนด้านการเงิน และความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อบูรณาการการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่การดำเนินงานของแต่ละภาคส่วน
ผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมา
- มีการติดตามและประเมินผลการทำงานตามแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (พ.ศ. 2558 – พ.ศ. 2593) เสนอปัญหา และข้อแนะนำต่าง ๆ เพื่อนำไปปรับปรุงแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- การรวบรวมข้อมูลกฎหมายและกลไกที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน กลไกการทำงานในแต่ละภาคส่วน การวิเคราะห์ประสบการณ์จากต่างประเทศในการร่างกฎหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับเครื่องมือทางเศรษฐกิจและการเงิน และได้นำเสนอสำหรับการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับแรกของประเทศไทย
- จัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับเจ้าหน้าที่ในระดับจังหวัดจำนวน 60 จังหวัด เพื่อนำความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปบูรณาการเข้าสู่กระบวนการวางแผนพัฒนาจังหวัด
- สนับสนุน สผ. ในฐานะหน่วยประสานงานกลางของประเทศไทยในคณะทำงานอาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยการจัดทำแนวทางการขับเคลื่อนทางยุทธศาสตร์เพื่อความร่วมมือในอาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแผนดำเนินงานสำหรับประเทศไทยซึ่งระบุถึงโอกาสของประเทศไทยในการเป็นผู้นำด้านสาธารณสุข การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และเป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมระดับภูมิภาคในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- ประเทศไทยได้เข้าร่วมกลุ่ม Nitric Acid Climate Action Group (NACAG) และเข้าร่วมเป็น NDC Partnership ทำให้ประเทศไทยมีส่วนร่วมบนเวทีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับนานาชาติมากขึ้น อีกทั้งได้ยกระดับความมุ่งมั่นของประเทศในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562กระทรวงสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยและประเทศเยอรมนีได้ร่วมกันลงนามปฏิญญาว่าด้วยการลดก๊าซไนตรัสออกไซด์ และต่อมาคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้เข้าร่วม NDC Partnership ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2563
สนับสนุนงบประมาณโดย
กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณูและคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV)
ประเทศ
ประเทศไทย
หน่วยงานร่วมดำเนินงาน
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ระยะเวลาดำเนินโครงการ
มกราคม 2561 – เมษายน 2565