ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิทยากร คือ กำลังสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจการต่อยอดความรู้มาตรฐานการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนในกลุ่มเกษตรกรปาล์มน้ำมัน
หลักสูตร TOPSA เป็นหลักสูตรสำหรับเกษตรกรรายย่อยเพื่อการผลิตน้ำมันปาล์มตามมาตรฐาน RSPO โดยประกอบด้วย 5 โมดูลหลัก ซึ่งได้แก่ 1) มาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน 2) การบริหารจัดการกลุ่ม 3) กสิกรรม 4) สิ่งแวดล้อม และ 5) สังคม ภายใต้โครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย (SCPOPP) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และGIZ
ปัจจุบันมีวิทยากรถึง 320 รายที่ได้รับการฝึกอบรมหลักสูตรพัฒนาเกษตรกรรายย่อยของไทยในการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน (Thailand Oil Palm Smallholder Academy: TOPSA) ตั้งแต่เดือนกรกฏาคม พ.ศ. 2563 สามารถถ่ายทอดความรู้มาตรฐานการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน (Roundtable for Sustainable Palm Oil หรือ RSPO) ให้แก่เกษตรกรแล้วกว่า 3,000 ราย และมีแผนที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังเกษตรกรในชุมชนอีก 1,000 ราย ในจำนวนนี้กว่า 2,500 รายยังได้รับการฝึกอบรมในเรื่อง ระบบควบคุมภายในการบริหารจัดการกลุ่ม และการจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตปาล์มน้ำมันอีกด้วย
โครงการฯ คาดหวังว่าเกษตรกรจะสามารถนำความรู้เกี่ยวกับการจัดการสวนปาล์มน้ำมันที่ดีไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป เพื่อนำไปสู่การทำสวนปาล์มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการจัดการผลกระทบทางสังคม ซึ่งจะเป็นไปตามข้อกำหนดของมาตรฐานที่วางเอาไว้
เสียงสะท้อนจากวิทยากรและเกษตรกร
นายมานพ สายนุ้ย กรรมการแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันตำบลไสไทย อำเภอเมือง และนายธนิต ศรีอ่อนนวล กรรมการแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันตำบลปกาสัย อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ กล่าวภายหลังจากได้ร่วมอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมถ่ายทอดความรู้ให้กับสมาชิกปาล์มน้ำมันแปลงใหญ่ในพื้นที่ของตัวเองว่า “หลักสูตรเกษตรกรรายย่อยผลิตปาล์มน้ำมันของไทย หรือ TOPSA ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจทางเทคนิคให้ง่ายดายและน่าสนใจขึ้น ผมมีความมั่นใจและพร้อมถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจเชิงลึกให้แก่เกษตรกรรายย่อยแล้ว”
อย่างไรก็ตาม นายเดชา จำนงรัตน์ วิทยากรจากอำเภอลำทับ จังหวัดกระบี่ ได้กล่าวถึงความท้าทายที่เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำต้องเผชิญว่า “เนื้อหาทางเทคนิคที่เกี่ยวกับการปฏิบัติทางการเกษตรเป็นเรื่องยากต่อทั้งเกษตรกรในการนำไปปฎิบัติ และต่อวิทยากรในการนำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดต่อ พวกเรายังต้องการการสนับสนุนจากวิทยากรจากกรมวิชาการเกษตรหรือเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในจังหวัด เพื่อความยั่งยืนของการต่อยอดความรู้ไปสู่เกษตรกรสวนปาล์มของไทยในวงกว้างต่อไป”