หลายคนพูดถึงคำว่า ‘เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม’ รวมทั้งรณรงค์ให้มีการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน และลดสารเคมีตกค้างในอาหาร แต่อาจลืมไปว่า ‘การจดทะเบียนสินค้าและการควบคุมกฎระเบียบข้อบังคับของปุ๋ยชีวภาพ’ สำคัญและจำเป็นเพียงใดในการสร้างความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนี้ให้ยั่งยืน
ดร. ศุภรัตน์ โฆษิทเจริญกุล ผู้อำนวยการกลุ่มควบคุมปุ๋ย กรมวิชาการเกษตร เล่าถึงประสบการณ์และสิ่งที่พบเจอในการขึ้นทะเบียนปุ๋ยชีวภาพและการควบคุมสินค้าทั้งในประเทศและระดับภูมิภาคอาเซียนว่า ในประเทศไทยกลุ่มควบคุมปุ๋ยมีหน้าที่ดูแลการขึ้นทะเบียนปุ๋ยและควบคุมคุณภาพของปุ๋ยที่จำหน่ายตามท้องตลาด ทั้งยังมีหน้าที่ในการออกใบอนุญาตผลิตปุ๋ย การนำเข้าและส่งออกปุ๋ยต่างๆ ซึ่งรวมทั้งปุ๋ยเคมี ปุ๋ยชีวภาพ และปุ๋ยอินทรีย์ จนถึงการร่างกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมปุ๋ย
ดร. ศุภรัตน์ เล่าถึงงานของกลุ่มควบคุมปุ๋ยที่มีอยู่มาก แต่เจ้าหน้าที่ที่ดูแลมีเพียงไม่กี่คน
“ในหนึ่งปีเราต้องอนุมัติใบอนุญาตไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นหกพันใบ แต่ด้วยจำนวนเจ้าหน้าที่ของเรามีน้อย ทำให้การอนุมัติใบอนุญาตเป็นไปอย่างล่าช้า”
งานด้านการตรวจสอบสินค้าในตลาดก็เช่นกัน ดร. ศุภรัตน์ กล่าวว่าการที่มีเจ้าหน้าที่จำนวนน้อย ทำให้การตรวจสอบสินค้าและการควบคุมคุณภาพสินค้าในตลาดทำได้ไม่ค่อยละเอียด โดยปัจจุบันประเทศไทยมีร้านค้าที่จำหน่ายปุ๋ยกว่าสามหมื่นร้าน และมีการพบสินค้าที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนและผ่านการรับรองในตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมีการตรวจสอบพบสินค้าที่ไม่ได้ผ่านการรับรองหรือการจดทะเบียนวางขายในตลาดแล้ว ดร. ศุภรัตน์ กล่าวว่าหลายครั้งที่กระบวนการยุติธรรมมักจะลดหย่อนบทลงโทษให้กับทางบริษัท ซึ่งในทางปฎิบัติต้องมีโทษปรับถึงหนึ่งล้านบาทและจำคุกเจ็ดปี และในบางกรณีอาจโดนเพิกถอนใบอนุญาตการผลิต
ส่วนในเรื่องของการขึ้นทะเบียนและกฎข้อบังคับในประชาคมอาเซียน ดร. ศุภรัตน์ ได้ให้ความเห็นถึงแผนการปรับกฎระเบียบข้อบังคับของปุ๋ยชีวภาพในอาเซียนเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกันในประเทศสมาชิก โดยได้กล่าวว่า “สิ่งที่ดีที่สุด คือ ควรจะมีการสร้างกฎข้อบังคับที่เป็นที่ยอมรับในระดับอาเซียนก่อนที่สมาชิกประเทศอาเซียนแต่ละประเทศจะจัดทำร่างกฎหมายของตัวเอง เพื่อที่จะได้ใช้เป็นมาตรฐานอ้างอิงให้เกิดความสอดคล้องใกล้เคียงกัน และการปรับกฎข้อบังคับให้สอดคล้องกันนั้นยังช่วยส่งเสริมการค้าปุ๋ยชีวภาพระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนได้ด้วย
ดร. ศุภรัตน์ ได้อธิบายว่าเมื่อประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศมีเกณฑ์กำหนดการขึ้นทะเบียนที่แตกต่างกัน นั่นหมายถึงสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศหนึ่งอาจจะไม่ผ่านเกณฑ์กำหนดการขึ้นทะเบียนในอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งอาจส่งผลต่อการส่งเสริมและการใช้ปุ๋ยชีวภาพที่ถูกต้องตามกฎหมายในระดับภูมิภาค
แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับข้อบังคับการใช้และการค้าชีวภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืชของอาเซียน ถูกจัดทำขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจากความร่วมมืออาเซียน-เยอรมัน ในโครงการระบบอาหาร-เกษตรแบบยั่งยืนแห่งอาเซียนและได้รับการอนุมัติจากรัฐมนตรีเกษตรและป่าไม้อาเซียนเมื่อปี พ.ศ. 2557 เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในการนำชีวภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืชไปใช้ รวมทั้งการร่างกฎข้อบังคับชีวภัณฑ์ในอาเซียนให้สอดคล้องกันเพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างภูมิภาค โดยแนวทางปฎิบัติฯ นี้มีข้อมูลเนื้อหาเกี่ยวกับชีวภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืชและตัวอย่างกรณีศึกษาในประเทศสมาชิกอาเซียน จนถึงข้อแนะนำในการปรับกฎข้อบังคับและการใช้ชีวภัณฑ์ฯ ในภูมิภาคให้สอดคล้องกัน อาทิเช่น การตั้งหลักเกณฑ์ในการขึ้นทะเบียนชีวภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืช
ในหลายปีที่ผ่านมาประเทศสมาชิกอาเซียนได้นำแนวทางการปฏิบัติฯ นี้ ไปใช้ประกอบในการร่างกฏหมายและยุทธศาสตร์ระดับประเทศในการส่งเสริมการปฏิบัติทางการเกษตรอย่างยั่งยืน อาทิเช่น กระทรวงเกษตรของประเทศอินโดนีเซีย ได้นำแนวทางปฏิบัติฯ ไปใช้ในกฏหมายข้อ 39 (Decree No. 39) เมื่อปี พ.ศ. 2558 และในประเทศเวียดนามก็ได้นำแนวทางปฏิบัติฯ นี้รวมอยู่ใน National Pesticide Regulation ของประเทศเช่นกัน
ความแตกต่างระหว่างปุ๋ยชีวภาพและปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพเป็นส่วนผสมของจุลินทรีย์ที่มีชีวิตที่สร้างธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืชและช่วยเสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ในพื้นดิน ส่วนปุ๋ยอินทรีย์นั้นถูกทำมาจากผลิตผลอินทรีย์ที่ประกอบด้วยธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืชและสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ
นาตาเชีย อังศกุลชัย Email: natasha.an(at)outlook.com
Data from the following embedded codes are sent to Google Inc. More information in our Privacy Policy.
YouTube
Enable or disable cookies for embedding and playing YouTube videos on our site.
(เปิดหรือปิดคุกกี้สำหรับการฝังและเล่นวิดีโอ YouTube บนเว็บไซต์ของเรา)