อีกไม่ถึง 40 ปี มีการคาดการณ์ว่าโลกจะมีประชากรถึง 9 พันล้านคนในปีพ.ศ. 2593 ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายสำหรับภาคเกษตรกรรมอย่างมากในการผลิตอาหารสำหรับประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ดร.แมทเทียส บิกเคล ผู้อำนวยการโครงการระบบอาหารเกษตรแบบยั่งยืนแห่งอาเซียน มองว่าภาครัฐและภาคเอกชนต้องมีการทำงานร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมกับสถานการณ์โลกในอนาคต
ดร.บิกเคล กล่าวในการอภิปราย ‘เรื่องราวจากอดีตสู่อนาคตเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแบบยั่งยืน’ ในงานฉลองครบรอบ 60 ปีความร่วมมือเพื่อการพัฒนาไทย – เยอรมันที่จัดขึ้นในเดือนมกราคม พ.ศ. 2560 ว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีจำนวนประชากรอยู่ประมาณ 600 ล้านคน และมีแรงงานส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 40 อยู่ในภาคเกษตรฯ แต่กลับสร้างให้เกิดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN Gross Domestic Product: GDP) เพียงร้อยละ 15 เท่านั้น
สถิติดังกล่าวนอกจากจะแสดงให้เห็นว่าประชากรในภาคเกษตรฯเป็นหัวใจหลักในภูมิภาคนี้แล้ว ยังชี้ให้เห็นว่ายังมีพื้นที่ว่างในการดำเนินงานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อผนึกกำลังกันให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาเพิ่มขึ้นอยู่ ดร.บิกเคล กล่าว
ย้อนกลับไปในปี พ. ศ. 2542 ความร่วมมือแบบภาครัฐและภาคเอกชน (Public-Private Partnership) ถูกริเริ่มโดยข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) โดยประชาคมโลกกำหนดให้มีกรอบการทำงานเพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรของภาคเอกชนมากขึ้นเพื่อร่วมกันผลิตสินค้าสาธารณะ
ดร.บิกเคล เปรียบเทียบความร่วมมือแบบภาครัฐและเอกชนนี้กับกีฬาฟุตบอล โดยเปรียบภาครัฐเสมือนผู้กำหนดกฎกติกาในการเล่นและเป็นผู้จัดหากรรมการตัดสินในขณะที่ภาคเอกชนมีบทบาทเสมือนผู้เล่นกีฬา
“ภาครัฐคือคนที่เอื้อให้เกิดบรรยากาศ กำหนดกฎกติกา และตรวจสอบให้มีการปฏิบัติตามกฎ และแก้ปัญหาข้อขัดแย้ง นอกเหนือจากการผลิตสินค้าสาธารณะ ในขณะที่ภาคเอกชนคือผู้เล่นบอล ประคองบอล และทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นผู้ที่ทำให้เกิดการดำเนินธุรกิจในแต่ละวัน และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง รวมทั้งมีส่วนสำคัญในการนำไปสู่การเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP)” ดร.บิกเคล กล่าว
นอกจากนี้ ดร.บิกเคล ยังยกตัวอย่างถึง เวทีการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน (Sustainable Rice Platform – SRP) ว่าเป็นหนึ่งในตัวอย่างของความร่วมมือแบบภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศไทย โดยเวทีการผลิตข้าวอย่างยั่งยืนนี้เป็นความร่วมมือจากหลายภาคส่วนที่มีการริเริ่มและก่อตั้งขึ้นโดยสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติและโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ โดยมีสมาชิกจำนวน 66 องค์กร จากภาคเอกชน ภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน และภาคประชาสังคม มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนเกษตรกรจำนวนหนึ่งล้านรายให้มีรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งมาตรฐาน SRP ถือเป็นมาตรฐานการผลิตข้าวแบบยั่งยืนแรกของโลก โดยมีการกำหนดกรอบการทำงานภาพรวมสำหรับแนวทางปฏิบัติที่ดีอย่างยั่งยืนในการผลิตข้าว
ดร.บิกเคล กล่าวว่ารู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ประเทศไทยนำโดยกรมการข้าว ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตข้าวแบบยั่งยืนเป็นรายแรกของโลก
มาตรฐานการผลิตข้าวแบบยั่งยืนนี้ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีมากที่แสดงให้เห็นถึงการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในระดับพื้นที่ และความสำเร็จนี้จะเป็นไปไม่ได้เลยหากขาดการสนับสนุนจากภาครัฐในการเอื้อให้เกิดบรรยากาศ และภาคเอกชนในฐานะผู้เล่น ดร. บิกเคลกล่าว