สถิติพบว่าประเทศสมาชิกในอาเซียนมีการค้าขายระหว่างกันเพียงร้อยละ 30 แต่สำหรับไทย กัมพูชา และเวียดนาม ถือว่าเป็น 3 ประเทศที่มีการทำการค้าโดยเฉพาะสินค้าเกษตรค่อนข้างมาก
‘โครงการอำนวยความสะดวกด้านการค้าสินค้าเกษตรในภูมิภาคอาเซียน’ จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อส่งเสริมการค้าขายสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผักและผลไม้ระหว่างประเทศสมาชิกในอาเซียน โดยเริ่มจากประเทศนำร่อง ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งได้เปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา
การอำนวยความสะดวกด้านการค้า สำหรับอาเซียนได้ให้ความหมายไว้ว่า “เป็นการสร้างบรรยากาศในการค้าระหว่างประเทศที่ต่อเนื่อง โปร่งใส และคาดการณ์ได้ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้า และช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมในการประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย”
นายวิชา ธิติประเสริฐ ที่ปรึกษา สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ประเทศไทย กล่าวว่า ไทยให้ความสำคัญและเน้นความปลอดภัยด้านอาหารและสุขอนามัยพืชเป็นอย่างมาก และด้วยไทยมีการค้าสินค้าเกษตรกับประเทศเวียดนาม และกัมพูชา อาทิ สินค้าจำพวกผักและผลไม้ค่อนข้างมาก แต่อาจยังมีช่องว่างทางการค้าระหว่างทั้ง 3 ประเทศ ด้านกฎระเบียบข้อบังคับ ขั้นตอน และการค้าชายแดนอยู่
โดยหนึ่งในช่องว่างเหล่านี้คือการขาดความเข้าใจของเจ้าหน้าที่กักกันพืชระหว่างประเทศ ที่ด่านตรวจพืช ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อบังคับด้านอาหารปลอดภัย และสุขอนามัยพืช รวมถึงกระบวนการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจทำให้เกิดความล่าช้าในการทำการค้าระหว่างประเทศ และอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินค้าเกษตร โดยเฉพาะอาหารสดที่เน่าเสียได้
นายวิชายังกล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งจำเป็นที่เร่งด่วน คือการอบรมเจ้าหน้าที่กักกันพืช ณ จุดตรวจระหว่างชายแดนให้สามารถตรวจสอบสินค้าและออกใบรับรองสุขอนามัยพืชอย่างมีประสิทธิภาพ
ท่านเฮียน วัน ฮอน อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และการประมง ประเทศกัมพูชา ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเสริมสร้างศักยภาพของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเช่นกัน และกล่าวว่าในกรณีของการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชนั้น ทุกอย่างเริ่มจากเจ้าหน้าปฎิบัติการ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจ เก็บตัวอย่างเพื่อมาวิเคราะห์หาศัตรูพืชหรือโรคพืช วินิจฉัยผล จนถึงขั้นตอนออกใบรับรองสุขอนามัยพืช
ตามอนุสัญญาว่าด้วยการอารักขาพืชระหว่างประเทศ (International Plant Protection Convention: IPPC) ได้ระบุไว้ว่า ใบรับรองสุขอนามัยพืชนั้นมีไว้เพื่อบ่งบอกว่าสินค้าที่ส่งออกเป็นไปตามข้อกำหนดของประเทศนำเข้าด้านสุขอนามัยพืชต่างๆ เพื่อปกป้องสุขอนามัยพืช และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพืชและแมลงศัตรูพืชต่างๆ
ในการประชุม Steering Committee ของโครงการฯ ที่ได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกระหว่างวันที่ 11-12 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา ผู้แทนจากภาครัฐของประเทศกัมพูชา ไทย และเวียดนาม ได้เข้าร่วมประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการฯ หน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และการดำเนินการโครงการ รวมถึงการหารือเพื่อหาข้อตกลงเกี่ยวกับสินค้าเกษตร (ผักและผลไม้) ที่จะเป็นพืชหลักในโครงการฯ
โดยจุดประสงค์หลักของโครงการฯ คือเพื่อพัฒนาข้อเสนอแนะสำหรับกรอบนโยบายความปลอดภัยของอาหารและสุขอนามัยพืชรวมถึงกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกันใน 3 ประเทศ และอาเซียน เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ตกลงกันไว้ในแผนแม่บทประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community Blueprint) เพื่อเพิ่มการค้าขายระหว่างประเทศในภูมิภาค
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้วางแผนการทำการศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของพืชหลักที่จะนำใช้ในโครงการนำร่อง ระหว่าง 3 ประเทศ รวมถึงความท้าทาย อุปสรรค ช่องว่าง และข้อเสนอแนะระหว่าง 3 ประเทศ โดยผลการศึกษาจะนำเสนอในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนเมษายน ปี 2561
คุณเฉิน ทุย ซุง ข้าราชการประจำกรมสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ประเทศเวียดนาม กล่าวว่าการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในสินค้าเกษตรนั้น สามารถสร้างผลประโยชน์ต่างๆ ทั้งการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร เพิ่มรายได้จากสินค้านำเข้าและส่งออก และพัฒนาความสามารถในการผลิต