รูปที่ 1 การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ดังนั้น สผ. ร่วมกับ GIZ เรียนเชิญผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนร่วมหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นโอกาสการลงุทน รวมถึงปัญหาและอุปสรรค เพื่อคัดเลือกสาขา (sectors) ที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชนต่อไป (รูปภาพโดย คุณอนุสรา แท่นพิทักษ์ GIZ)
สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ดำเนินการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมและการลงทุนของภาคเอกชนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการวิเคราะห์อุปสรรคและข้อจำกัดในการลงทุน เพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดการกับข้อจำกัดและอุปสรรคต่อไป
ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชน เป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการ อาทิ การพัฒนาสินค้าและบริการ รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การลงทุนอย่างยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของประเทศไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำและมีความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โดยเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2561 สผ. ในฐานะหน่วยประสานงานหลัก (National Designated Authority: NDA) ของกองทุน Green Climate Fund (GCF) ประเทศไทย ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และบริษัท เดอะ ครีเอจี้ จำกัด ที่ปรึกษา ภายใต้แผนงานโครงการสนับสนุนการเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานของกองทุน GCF ในประเทศไทย ระยะที่ 2 (GCF Readiness Support Programme Phase II) ได้จัด “การประชุมเชิงปฏิบัติการคัดเลือกสาขา ( Sectors) ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อขับเคลื่อนภาคเอกชนให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากกองทุน GCF”
รูปที่ 2 เมื่อวันที่ 28 กันยายา 2561 ที่ผ่านมา สผ. ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)
และบริษัท เดอะ ครีเอจี้ จำกัด ที่ปรึกษา จัด “การประชุมเชิงปฏิบัติการคัดเลือกสาขา (Sectors)
ทีเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อขับเคลื่อนภาคเอกชน
ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากกองทุน GCF” (รูปภาพโดย คุณอนุสรา แท่นพิทักษ์ GIZ)
โดยวัตถุประสงค์ของการประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกองทุน GCF และโอกาสการขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุน GCF และร่วมหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องใน 8 สาขา ได้แก่ สาขาอุตสาหกรรม สาขาการเกษตร สาขาการจัดการของเสีย และสาขาขนส่ง สาขาการท่องเที่ยว สาขาการใช้ประโยชน์จากที่ดิน สาขาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ และสาขาการสาธารณสุข ในประเด็นเกี่ยวกับศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ/หรือ ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากการลงทุนของภาคเอกชนในแต่ละสาขา การมีส่วนร่วมและการลงทุนของภาคเอกชนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อุปสรรคและข้อจำกัดในการลงทุน รวมถึงรูปแบบการสนับสนุนทางการเงินที่เหมาะสมหรือที่ต้องการจากภาคเอกชน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการคัดเลือกสาขาที่เหมาะสมสำหรับทำการศึกษาในเชิงลึก และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดการกับข้อจำกัดและอุปสรรค เพื่อขับเคลื่อนภาคเอกชนให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากกองทุน GCF และแหล่งเงินทุนระหว่างประเทศอื่นๆ ทางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไป
สผ. ร่วมกับสำนักเลขาธิการกองทุน GCF กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติและความปลอดภัยทางปรมาณู สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU) ผ่านองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จัดทำแผนงานโครงการสนับสนุนการเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานของกองทุน GCF ในประเทศไทย ระยะที่ 2 (GCF Readiness Support Programme Phase II) ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้น 2 ปี เพื่อเสริมสร้างความพร้อมด้านการเงินเพื่อการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate finance) ให้แก่หน่วยงานภายในประเทศ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงขับเคลื่อนภาคเอกชนให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากกองทุน GCF และแหล่งเงินทุนระหว่างประเทศอื่นๆ
กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) เป็นกลไกทางการเงินภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2553 ในการประชุมรัฐภาคีครั้งที่ 16 ที่เมืองแคนคูน สหรัฐเม็กซิโก โดยเริ่มดำเนินงานเต็มรูปแบบในปี พ.ศ. 2558 เพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของประชาคมโลกสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ และมีความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยให้การสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ กองทุนภูมิอากาศสีเขียวคำนึง ถึงความเป็นเจ้าของประเทศและความต้องการของประเทศเป็นหลัก (สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมของกองทุน GCF ได้ที่ www.greenclimate.fund)