รูปที่ 1: สผ. และ GIZ จัดฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคในการบูรณาการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในกระบวนการจัดทำแผนในพื้นที่ ระหว่างวันที่ 8 – 10 สิงหาคม 2561 จากซ้ายไปขวา: ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช ผู้อำนวยการกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นางสาวชุติมา จงภักดี ผู้จัดการโครงการการดำเนินงานด้านนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนางกตัญชลี ธรรมกุล ผู้อำนวยการกลุ่มงานนโยบายและยุทธศาสตร์(รูปภาพ โดย นางสาวอนุสรา แท่นพิทักษ์)
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนับวันยิ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างเห็นได้ชัด รัฐบาลจึงกำหนดให้มีนโยบายแห่งชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานทั่วประเทศเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว
หากเราติดตามข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ จะพบว่า หลายพื้นที่ของประเทศไทยกำลังเผชิญกับฝนที่ตกลงมาอย่างหนักและต่อเนื่องยาวนานหลายวัน ในขณะที่บางพื้นที่ประสบกับภัยแล้งหรืออุณหภูมิความร้อนที่สูงเป็นประวัติการณ์ ประเด็นปัญหาดังกล่าวได้ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือกันอย่างกว้างขวางในงานฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคในการบูรณาการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในกระบวนการจัดทำแผนในพื้นที่ ซึ่งจัดขึ้น ณ โรงแรมอโนมา แกรนด์ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 8-10 สิงหาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา โดยผู้เข้าร่วมฝึกอบรมได้หยิบยกประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังเผชิญอยู่ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ ซึ่งแต่ละพื้นที่ต่างรับรู้ได้ถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตระหนักถึงภารกิจในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ พร้อมทั้งสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนมีการดำเนินงานตามนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยกรอบนโยบายระดับประเทศ
ในปี พ.ศ. 2558 แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558-2593 ซึ่งจัดทำและเสนอโดย สผ. ได้รับมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และถือเป็นกรอบนโยบายสำหรับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิกาศของประเทศ โดยแผนแม่บทฯ ประกอบด้วยเป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานใน 3 ด้าน ได้แก่ การปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการเติบโตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ และการสร้างขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ในฐานะหน่วยประสานงานกลางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ สผ. มีบทบาทในการสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการแผนแม่บทฯ เพื่อใช้ในการวางแผนระดับภูมิภาคและจังหวัด ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวถือเป็นงานที่ท้าทายเนื่องจากต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ด้วยเหตุนี้ กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติและความปลอดภัยทางปรมาณูแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU) จึงได้สนับสนุน สผ. ในการเสริมสร้างขีดความสามารถของหน่วยงานภาครัฐในระดับพื้นที่ เพื่อบูรณาการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่การจัดทำแผนงานหรือโครงการในพื้นที่ นำไปสู่การวางแผนรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ผ่านการดำเนินงานของ GIZ ในโครงการการดำเนินงานด้านนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โครงการการดำเนินงานด้านนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (พ.ศ. 2561-2564) ภายใต้แผนงานความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทย-เยอรมัน ได้สนับสนุน สผ. ในการเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรภาครัฐทั้งจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และระดับจังหวัด จำนวน 60 จังหวัดเพื่อบูรณาการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่การวางแผนพัฒนาในพื้นที่ ซึ่งเป็นการขยายผลการดำเนินงานฝึกอบรมให้กับบุคลากรในพื้นที่นำร่องใน 17 จังหวัด 32 เทศบาล ระหว่างปี พ.ศ. 2557 – 2560 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ภายในปี 2564 โครงการฯ คาดหวังว่า 77 จังหวัดทั่วประเทศไทยจะได้เรียนรู้และมีกระบวนการวางแผนการพัฒนาจังหวัดที่คำนึงถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสามารถบูรณาการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่การวางแผนการพัฒนาได้
สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค (สสภ.) นับเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการจัดทำแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมระดับภาค และให้คำปรึกษาทางวิชาการแก่หน่วยงานในพื้นที่ ดังนั้น สสภ. จึงมีหน้าที่ในการบูรณาการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่การจัดทำแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมระดับภาค และให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการบูรณาการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในกระบวนการการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดในระดับต่อไป