เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา GIZ ประจำประเทศไทยร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) กรอบการพิจารณาขอรับการสนับสนุนทางการเงินระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (Thailand Country Programme: TCP) ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วนที่มีต่อร่างฯ ดังกล่าว ตลอดจนเพื่อประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานที่เข้าร่วมการประชุมทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมได้รับทราบและปรับใช้ร่างฯ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
การประชุมได้รับเกียรติจากดร. กิตติศักดิ์ พฤกษ์กานนท์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกลุ่มงานฐานข้อมูลและองค์ความรู้ สำนักงานประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (สผ.) มาเป็นผู้บรรยายและให้ข้อมูลเกี่ยวกับ(ร่าง) กรอบการพิจารณาขอรับการสนับสนุนทางการเงินระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (Thailand Country Programme: TCP)
ดร.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ทำให้เราต้องปรับตัวทั้งระดับส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ตลอดจนร่วมผลักดันให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน การคมนาคมและขนส่ง กระบวนการผลิตในอุตสาหกรรม และการจัดการของเสีย ซึ่งขณะนี้ สผ. กำลังร่วมกับ GIZ ร่างกรอบการพิจารณาขอรับการสนับสนุนทางการเงินระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย เพื่อเป็นตัวกลางประสานในการของบสนับสนุนจากกองทุน Green Climate Fund (GCF) ให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ต้องการดำเนินโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งร่างฯ จะสมบูรณ์ได้นั้น ต้องอาศัยข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ดังนั้นวันนี้เราจึงจัดประชุมขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้เสนอความเห็นที่มีต่อร่างฯ เพื่ออุดช่องว่างและทำให้ร่างนี้เสร็จสมบูรณ์”
“กองทุน GCF ถูกตั้งขึ้นตามข้อมติ Decision 1/ CP.16 ของการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 16 (COP 16 UNFCCC) เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งกองทุน GCF เป็นกลไกทางการเงินเพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของประชาคมโลก ด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำและการมีภูมิต้านทานและความสามารถในการฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ดร.กิตติศักดิ์ กล่าวเสริม
ด้านนายทิม มาเลอร์ ผู้อำนวยการโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ GIZ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “GIZ “ได้รับการรับรองจาก GCF ให้มีสิทธิ์ในการสนับสนุนการพัฒนาและดำเนินงานโครงการร่วมกับผู้พัฒนาโครงการ (ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย) โดยเงินทุนของ GCF และเนื่องจากประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นประเทศที่ได้รับการพัฒนาแล้ว ดังนั้น GCF มองว่าประเทศไทยก็มีศักยภาพระดับหนึ่งและเห็นสมควรว่ารัฐบาลไทยก็ควรมีส่วนช่วยสนับสนุนร่วมด้วย ดังนั้นในการเขียนข้อเสนอในการทำโครงการ ต้องระบุให้ชัดว่าประเทศไทยมีปัญหาอะไร และอะไรที่เราต้องแก้ไขและพัฒนาจริงๆ เพราะการได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก GCF มาดำเนินโครงการไม่ใช่เรื่องง่าย กระบวนการต่างๆ ค่อนข้างใช้เวลาในการพิจารณาอนุมัติค่อนข้างนาน การเขียนโครงการจึงต้องผ่านการวิเคราะห์โดยละเอียด และคิดเสมอว่าเราจะสร้างโครงการเพื่อพัฒนาประเทศ ไม่ใช่เพียงแค่อยากสร้างโครงการเพื่อให้ได้เงินสนับสนุน”
จากการประชุม ทำให้ผู้เข้าร่วมได้รับทราบรายละเอียดและแนวทางการใช้ประโยชน์ (ร่าง) กรอบการพิจารณาขอรับการสนับสนุนทางการเงินระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (Thailand Country Programme: TCP) โดยมีโอกาสเสนอแนะความคิดเห็นเพื่อประโยชน์สูงสุดในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ภายใต้กรอบการดำเนินงานระหว่างประเทศ ตัวอย่างความคิดเห็นที่น่าสนใจจากผู้เข้าร่วม อาทิ
“เกณฑ์การพิจารณาขอรับการสนับสนุนทางการเงินระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ควรแบ่งตามขนาดของโครงการ เพราะบางเกณฑ์อาจจะไม่เหมาะกับขนาดของโครงการบางประเภท”
“การดำเนินโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยจะเกิดประโยชน์มาก หากมีหลายภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วม เพราะปัจจุบันหน่วยดำเนินงานที่มีสิทธิ์ในการสนับสนุนการพัฒนาและดำเนินงานโครงการร่วมกับผู้พัฒนาโครงการโดยเงินทุนของ GCF ยังมีน้อย จึงอยากขอแนะนำว่าทางสผ. และคณะควรกระตุ้นให้องค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาช่วยเหลือ พัฒนาความรู้ และทักษะในการเขียนโครงการ ซึ่งควรมีหน่วยงานเอกชนเข้ามาร่วมด้วย เช่น สภาหอการค้าไทย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและภาคเอกชนอื่นๆ ที่มองเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) เป็นประเด็นสำคัญ เพื่อให้เกิดความช่วยเหลือทั้งทางด้านวิชาการและทางการเงิน”
ภายหลังจากการประชุม ที่ประชุมจะนำข้อเสนอแนะต่างๆ ที่ได้รับไปพิจารณา ปรับแก้ไขร่างฯ ให้เหมาะสมและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อยื่นให้คณะทำงานและคณะกรรมการระดับชาติที่เกี่ยวข้องพิจารณาในลำดับถัดไป ภายในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560 นี้