“ความร่วมมือระหว่างประเทศจะสามารถช่วยให้ประเทศบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้อย่างไร”
“ทำอย่างไรที่จะสามารถเพิ่มการมีส่วนร่วมในการบรรลุเป้าหมาย เชื่อมต่อความร่วมมือ และก้าวข้ามความท้าทายได้”
คำถามข้างต้น เป็นแนวทางการประชุมความร่วมมือเยอรมัน-ไทย ภายใต้แผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (หรือ IKI Cooperation Meeting) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2559 โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และ GIZ ซึ่งมีผู้แทนจากรัฐบาลไทย และกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ การก่อสร้าง และความปลอดภัยทางปรมาณูแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUB) เข้าร่วม เพื่อร่วมกันพัฒนาความร่วมมือของโครงการในประเทศไทยซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากแผนงาน IKI ของ BMUB นอกจากนี้ รัฐบาลทั้งสองยังได้แลกเปลี่ยนเป้าหมายและลำดับความสำคัญการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อกำหนดขอบเขตความร่วมมือในอนาคต
สำหรับฝ่ายเยอรมัน ด้านการเปิดรับข้อเสนอโครงการในปัจจุบัน (มีนาคม-มิถุนายน) ยังคงให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์คาร์บอนต่ำ การดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (NAMA) พลังงานทดแทน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การขนส่ง การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและการเสื่อมโทรมของป่า (REDD +) รวมถึงข้อเสนอของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลังปี ค.ศ. 2020 (Intended Nationally Determined Contributions) ในด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ BMUB จะสนับสนุนโครงการปรับตัวฯ ภายใต้ยุทธศาสตร์การปรับตัวระดับชาติ อาทิ การจัดการน้ำและการใช้ที่ดินโดยอาศัยระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ
สำหรับฝ่ายไทย ได้นำเสนอแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งแผนพัฒนา และแผนรายสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560 – 2565 ยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียว พ.ศ. 2558 – 2563 และแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2555 – 2558 ซึ่งมีใจความสำคัญคล้ายกับความสำคัญที่ฝ่ายเยอรมันได้เน้น คือความสามารถในการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศจะสามารถบรรลุได้ด้วยวิถีทางคาร์บอนต่ำและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยต่อยอดจากสามเสาหลัก ได้แก่ การปรับตัวฯ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการสร้างขีดความสามารถ เป้าหมายระยะสั้นของการดำเนินงานได้รวมถึงการพัฒนาแผนที่นำทาง (Roadmap INDC) ตัวชี้วัด 11 ประการได้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อวัดความคืบหน้าของเป้าหมายระยะสั้นที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ มีการหยิบยกประเด็นด้วยว่า ภาคเอกชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในอนาคต เพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้สำเร็จ
การประชุมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงระหว่างทั้งสองประเทศที่ทำไว้เมื่อเดือนกันยายน 2556 โดยมุ่งให้มีการแลกเปลี่ยนประจำปีในหัวข้อที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระหว่างการเยือนของผู้แทนจาก BMUB ในประเทศไทย ได้มีการเยี่ยมชมพื้นที่ ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช ภายใต้การดำเนินการตามนโยบายสภาพภูมิอากาศและการปรับตัวฯ โดยอาศัยระบบนิเวศในพื้นที่ลุ่มน้ำด้วย
ตั้งแต่ปี 2551 แผนงาน IKI ของ BMUB ได้สนับสนุนด้านเงินทุนแก่โครงการที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งให้เงินทุนแก่พันธสัญญาภายใต้กรอบอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ จนถึงปัจจุบัน BMUB ได้สนับสนุนด้านเงินทุนแก่โครงการราว 500 โครงการในกว่า 100 ประเทศ คิดเป็นจำนวนเงินรวม 1.7 พันล้านยูโร
IKI ของ BMUB ในประเทศไทย:
- โครงการทวิภาคี 11 โครงการ รวมเงินทุนจำนวน 25.8 ล้านยูโร
- โครงการระดับภูมิภาคและระดับโลก 29 โครงการ ซึ่งมีประเทศไทยร่วมด้วยในโครงการ
“โครงการสนับสนุนการพัฒนาและดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย” ช่วยผลักดันนโยบายระดับชาติของเราลงสู่ระดับภูมิภาคและท้องถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับเรา ด้วยขีดความสามารถของ สผ. โดยลำพัง เราจะไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(นางอังคณา เฉลิมพงษ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานประสานงานกลางอนุสัญญา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)