ภาพ (จากซ้าย) นายสมชัย มาเสถียร รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดร. รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) นายทิม มาเลอร์ ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทยและมาเลเซีย และ ดร. อเล็กซานเดอร์ โรลโบลด์ สถานทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย
เมื่อวันที่ 26 กรกฏาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกับ GIZ เปิดตัวโครงการการดำเนินงานด้านนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปสู่การดำเนินการในพื้นที่ครอบคลุม 60 จังหวัดทั่วประเทศ
นายสมชัย มาเสถียร รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวขอบคุณกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติและความปลอดภัยทางปรมาณู สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU) และ GIZ ที่ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องในประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะความสำเร็จในการถ่ายทอดนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่นำร่องจำนวน 17 จังหวัด 32 เทศบาลในระยะที่ผ่านมา (พ.ศ.2557 –2560) ส่งผลให้เกิดการบูรณาการแนวคิดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่กระบวนการจัดทำแผนระดับจังหวัดและท้องถิ่น และในปี พ.ศ. 2561 นี้จะได้ขยายพื้นที่การดำเนินงานใน 60 จังหวัดที่เหลือ เพื่อให้ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนการดำเนินงานในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดทำร่างแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (NAP) ปีพ.ศ. 2558-2562
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะหน่วยงานหลักด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ มีภารกิจสำคัญ คือ การถ่ายทอดนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่นโยบาย การประชุมนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทุกหน่วยงานจะประสานความร่วมมือในการบูรณาการการขับเคลื่อนนโยบายในพื้นที่ให้เป็นรูปธรรม โดยมีสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคทำหน้าที่เชื่อมโยงนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่การดำเนินงานในระดับภูมิภาค ขณะที่สำนักงานจังหวัดและสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานจัดทำแผนและนโยบายในพื้นที่ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่จะร่วมเป็นเครือข่ายในการดำเนินงานต่อไป
ดร. รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์และที่มาของโครงการนี้ว่า สผ.ทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานงานกลางภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานทั้งในด้านการลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสร้างขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ประเทศไทยมีการเติบโตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนและตามวิสัยทัศน์ของแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558 – 2593 ดังนั้น สผ. และ GIZ จึงได้ต่อยอดการดำเนินโครงการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายในระดับประเทศสู่การปฏิบัติในพื้นที่ครอบคลุมเพิ่มอีก 60 จังหวัด ตลอดจนมุ่งหวังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถพัฒนาศักยภาพในการบูรณาการนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่แผนพัฒนาระดับจังหวัด
นายทิม มาเลอร์ ผู้อำนวยการ GIZ ประจำประเทศไทยและมาเลเซีย กล่าวว่า “โครงการการดำเนินงานด้านนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทย-เยอรมัน (Thai – German Climate Programme: TGCP) โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) ของ BMU ในการดำเนินงาน 4 ปี (พ.ศ. 2561 – 2564) ผ่าน 4 แนวทางหลัก คือ การพัฒนาศักยภาพหน่วยงานและบุคลากร การบูรณาการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การติดตามและประเมินผล และการสนับสนุนกลไกการขับเคลื่อนด้านงบประมาณ”
“GIZ และ สผ. มีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับการดำเนินงานให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ และใช้บทเรียนจากระยะที่ 1 เข้ามาปรับใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในครั้งนี้ เรามีความมุ่งหวังที่จะพัฒนาศักยภาพหน่วยงานและบุคลากรในการบูรณาการนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่แผนพัฒนาระดับจังหวัดที่เชื่อมโยงกับบริบทของพื้นที่ ไม่เพียงแต่กับหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่โครงการฯ ยังขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานราชการระดับจังหวัด เช่น สำนักงานจังหวัด สังกัดกระทรวงมหาดไทย” นายทิม มาเลอร์กล่าวเพิ่มเติม
อนุสรา แท่นพิทักษ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ Email:anusara.tanpitak(at)giz.de
Data from the following embedded codes are sent to Google Inc. More information in our Privacy Policy.
YouTube
Enable or disable cookies for embedding and playing YouTube videos on our site.
(เปิดหรือปิดคุกกี้สำหรับการฝังและเล่นวิดีโอ YouTube บนเว็บไซต์ของเรา)