ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมระบบปรับอากาศและทำความเย็นของไทยเริ่มหันมาใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงและสารทำความเย็นธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแพร่หลาย จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ การพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนด้านสารทำความเย็นธรรมชาติให้แก่นักเรียน นักศึกษา ช่างเทคนิค ครูผู้สอนวิชาที่เกี่ยวข้องกับเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ตลอดจนบุคลากรภาคบริการ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
ประเทศไทยเร่งเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรในภาคบริการ ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้และติดตั้งสารทำความเย็นธรรมชาติในอุปกรณ์เครื่องทำปรับอากาศและทำความเย็นอย่างถูกต้อง ปลอดภัยตามหลักวิชาการ โดยในปี พ.ศ. 2563 นี้ คาดการณ์ว่าจะมีผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีสารทำความเย็นธรรมชาติเริ่มจำหน่ายออกสู่ตลาดภายในประเทศไทยกว่า 100,000 เครื่อง และจะมีส่วนแบ่งการตลาดกว่าร้อยละ 50 ในอีก 3 ปีข้างหน้า การเตรียมความพร้อมของภาคบริการให้สอดรับกับการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมเช่นนี้ จะส่งผลให้เกิด การเปลี่ยนผ่านสู่การใช้เทคโนโลยีทำความเย็นสีเขียวอย่างยั่งยืน
ศักยภาพของช่างเทคนิคและครูผู้สอนเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้เทคโนโลยีทำความเย็นสีเขียวอย่างยั่งยืน
ในเดือนสิงหาคม ปีพ.ศ. 2562 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ GIZ ร่วมจัดการฝึกอบรมในหัวข้อ “การจัดการใช้สารทำความเย็นที่ติดไฟได้อย่างปลอดภัย” โดยเนื้อหาการอบรมประกอบไปด้วยความรู้เชิงทฤษฎีและการฝึกภาคปฏิบัติ ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การฝึกอบรมกลุ่มหัวหน้าช่าง และครูผู้สอนเครื่องปรับอากาศและตู้เย็น ซึ่งในขณะนี้ การฝึกอบรมดังกล่าวได้เสร็จสมบูรณ์ลงแล้ว และมีผู้ผ่านการฝึกอบรมเป็นครูต้นแบบจำนวน 222 ท่าน พร้อมทั้งมีการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมจำนวน 8 แห่งทั่วประเทศ
แม้การฝึกอบรมจะได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี แต่เนื่องด้วยหลักสูตรของการฝึกอบรมฯ ถูกพัฒนาขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ และมีกลุ่มเป้าหมายค่อนข้างจำกัด ดังนั้น การพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย จึงเป็นขั้นตอนต่อไปก่อนจะถูกนำไปพิจารณาบรรจุเป็นหลักสูตรของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.)
สานต่อการพัฒนาหลักสูตรตามบริบทประเทศไทย
ระหว่างวันที่ 26 – 28 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ตัวแทนจากมจพ. สอศ. กพร. สมาคมเครื่องทำความเย็นไทยและ GIZ กว่า 35 ท่าน เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การพัฒนาหลักสูตรการจัดการใช้สารทำความเย็นที่ติดไฟได้อย่างปลอดภัย” ที่จัดขึ้นที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งการพัฒนาหลักสูตรนี้ จะใช้การถอดบทเรียนจากหลักสูตรครูต้นแบบที่ได้จัดขึ้น พร้อมทั้งระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการจัดทำร่างและบรรจุหลักสูตรสำหรับช่างเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นของ สอศ. และกพร. รวมถึงการขยายกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมนักเรียนในสังกัดสอศ. และกพร. ตลอดจนช่างที่เรียนรู้ด้วยตนเอง และประชาชนทั่วไปที่สนใจ
นางสาวรัชวรรณ ทองน่วม อาจารย์จากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 10 ลำปาง กล่าวถึงทิศทางของหลักสูตรที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตว่า “กพร.ควรมุ่งเน้นไปที่ช่างแอร์ในสถานประกอบการและช่างแอร์อิสระในประเทศ โดยการเปิดฝึกอบรมยกระดับฝีมือแรงงาน สาขาการใช้สารทำความเย็นที่ติดไฟได้อย่างปลอดภัย กพร. มีสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานทุกจังหวัด มีความสามารถในการจัดการต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ คือ ฝึกอบรมช่างแอร์ให้มีความรู้สามารถประกอบอาชีพได้ ทดสอบมาตรฐานฝีมือและรับรองความรู้ความสามารถ”
อาจารย์เพิ่มพูล อนันตา จากวิทยาลัยเทคนิคยโสธร กล่าวถึงแนวทางที่สอศ.สามารถผลักดันเรื่องหลักสูตรว่า “ควรจะมีการพัฒนาหลักสูตร ทั้งระดับ ปวช.และ ปวส. โดยการพิจารณานำเนื้อหาในเรื่องการใช้สารทำความเย็นที่ติดไฟได้อย่างปลอดภัย เข้าไปในคำอธิบายรายวิชา เพื่อให้ครูผู้สอนเกิดความตระหนักและสอนเรื่องการใช้สารทำความเย็นที่ติดไฟได้อย่างปลอดภัยให้กับนักศึกษาเกิดความรู้และทักษะในการปฏิบัติงาน สอศ.มีหน้าที่ในการผลิตกำลังคนในระดับปวช. และ ปวส. เพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามา สอศ.มีสถานศึกษาในการกำกับดูแลจำนวน 429 แห่ง ในแต่ละปีมีจำนวนนักศึกษาสาขาวิชาช่างไฟฟ้าที่จบการศึกษาหลายหมื่นคน หากมีการบรรจุหลักสูตรเรื่องการจัดการสารทำความเย็นที่ติดไฟได้อย่างปลอดภัย แรงงานที่จบออกไปก็จะมีความรู้และทักษะติดตัวเมื่อประกอบวิชาชีพนี้”
ภายในระยะเวลาอันสั้น ทีมคณาจารย์จากวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มจพ. ได้กลายมาเป็นผู้ผลักดันเรื่องการฝึกอบรมเรื่องสารทำความเย็นธรรมชาติในประเทศ โดย มจพ. ได้รับเอาองค์ความรู้เรื่องสารทำความเย็นธรรมชาติจากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศมาถ่ายทอดและเผยแพร่ให้กับครูผู้สอนภาคอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นและหัวหน้าช่างให้มีความรู้และทักษะตามมาตรฐานความปลอดภัยสากล โดยคาดการณ์ว่าครูต้นแบบกว่า 222 ท่านจะต่อยอดและเผยแพร่ความรู้ไปสู่ช่างเทคนิคอื่นๆ ทั่วประเทศ
นายรัฐพร รัศมี อาจารย์ผู้สอนวิชาเครื่องทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศ วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มจพ. กล่าวถึงบทบาทที่มจพ. สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ “นอกจากการฝึกอบรม มจพ.ควรมุ่งเน้นทำงานเชิงวิชาการ จัดงานสัมมนา เปิดอบรมแก่ผู้ปฏิบัติงาน ผู้ประกอบการร้านค้า และประชาชนทั่วไป หรือทำงานทดสอบมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานในระบบปรับอากาศ”
จากสารทำความเย็นสังเคราะห์ สู่สารทำความเย็นธรรมชาติ
กว่าหลายทศวรรษ ประเทศไทยพึ่งพาการใช้สารทำความเย็นสังเคราะห์ อาทิ สารทำความเย็นที่มีฟลูออไรด์หรือกลุ่มก๊าซฟลูออริเนต ซึ่งทำลายชั้นบรรยากาศและส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ปัจจุบันผู้ผลิตในอุตสาหกรรมไทยเริ่มหันมาใช้เทคโนโลยีทำความเย็นสีเขียวและสารทำความเย็นธรรมชาติ เช่น “ไฮโดรคาร์บอน” ที่มีศักยภาพการประหยัดพลังงานที่สูงกว่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในตู้เย็น ตู้แช่สินค้า เครื่องปรับอากาศ และระบบทำความเย็นขนาดใหญ่
R290 คือ สารทำความเย็นธรรมชาติที่มีค่าศักยภาพการทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน (ODP) เท่ากับ 0 และมีค่าศักยภาพการก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน (GWP) ต่ำมาก จึงไม่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนและไม่ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน และมีความเป็นไปได้ที่จะนำมาใช้แทนสารทำความเย็นเดิมชนิดอื่นๆ อย่างไรก็ดี เนื่องจากสาร R290 จัดเป็นสารที่ติดไฟง่าย จึงจำเป็นต้องมีการจัดการฝึกอบรมเพื่อให้สามารถใช้งานสารทำความเย็นประเภทนี้ได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย งานวิจัยและการทดสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์แสดงให้เห็นว่าสาร R290 สามารถใช้งานได้โดยไม่มีอันตรายใดๆ ภายใต้เงื่อนไขว่าผลิตภัณฑ์จะต้องได้รับการออกแบบตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง (มาตรฐาน IEC 60335-2-40 และ TIS 1529 สำหรับเครื่องปรับอากาศ ) ทั้งนี้ การติดตั้งและบำรุงรักษาอุปกรณ์ต้องดำเนินการโดยช่างเทคนิคที่ได้รับการฝึกอบรมและ สามารถปฏิบัติงานได้ตามมาตรฐาน
การเปลี่ยนประเภทสารทำความเย็นถือว่าเป็นเรื่องปกติ สิ่งสำคัญ คือ การเปิดรับโอกาสและความรู้ใหม่ๆ จากเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลงในอนาคต การพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมไปสู่สารทำความเย็นธรรมชาติ ถือเป็นประเด็นสำคัญของการเปลี่ยนผ่านที่ยั่งยืน
นางสาวรัชวรรณ ทองน่วม อาจารย์จากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 ลำปาง และเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมครูต้นแบบ กล่าวว่า “สารทำความเย็นที่ติดไฟตัวนี้สามารถนำมาใช้ในระบบเครื่องปรับอากาศได้อย่างปลอดภัย หากช่างบริการได้รับการอบรมและรู้จักการใช้งานที่ถูกวิธี และเราสามารถนำไปปฏิบัติงานได้จริง เช่นเดียวกับการใช้สารทำความเย็นอื่นๆ ทั่วไป”