สารทำความเย็นธรรมชาติถือเป็นสิ่งใหม่ในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ จึงมีการอบรมการจัดการใช้สารทำความเย็นที่ติดไฟได้อย่างปลอดภัย เพื่อฝึกอบรมช่างและครูฝึกช่างเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นให้เข้าใจเกี่ยวกับการใช้และติดตั้งสารทำความเย็นธรรมชาติในเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นอย่างถูกต้อง ปลอดภัย
การฝึกอบรมทั้ง 8 ครั้งได้จบลงไปแล้วสำหรับปีนี้ จะเหลือการฝึกอบรมอีก 5 ครั้งที่จะจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2563 โดยตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา รองศาสตราจารย์ ดร. ฉัตรชาญ ทองจับ จากวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) นำทีมคณะครูอาจารย์ที่สอนปฏิบัติจาก มจพ. จัดการฝึกอบรม “การจัดการใช้สารทำความเย็นที่ติดไฟได้อย่างปลอดภัย” ขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ช่างมีความรู้เชิงทฤษฎีและภาคปฏิบัติในการจัดการสารทำความเย็นที่ติดไฟได้อย่างปลอดภัย
“การเปลี่ยนแปลงประเภทสารทำความเย็นที่มีผลต่อเทคนิคในการปรับเปลี่ยนวิธีปฏิบัติงานถือว่าเป็นเรื่องปกติ มหาวิทยาลัยต้องเปิดรับโอกาสและความรู้ใหม่ๆ จากเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลงในอนาคต คนทำงานในสาขาวิชานี้ต้องรู้เท่าทัน ผมในฐานะครูอาจารย์ก็มีหน้าที่รับการถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านั้นจากผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” อาจารย์ฉัตรชาญ ในฐานะที่เป็นอาจารย์สอนเรื่องเครื่องทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศมากว่า 28 ปีกล่าว
อาจารย์เล่าให้ฟังว่า ช่างไทยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะช่างที่เกี่ยวกับการจัดการเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นไม่ได้รับความรู้โดยตรงจากสถานศึกษา “ช่างบางคนเรียนรู้เอาจากหน้างาน เมื่อไปทำงานก็อาจมีความเสี่ยงจากการทำงาน โดยลองผิดลองถูก ถ้าไม่เกิดอันตรายก็แล้วไป แต่บางทีก็อาจเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งก็เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อที่ช่างขาดความรู้ความเข้าใจจริง สารทำความเย็นธรรมชาตินั้นเป็นสารตัวใหม่ที่เข้ามา โดยต้องโน้มน้าวให้ทุกคนรู้ว่านี่คือสิ่งที่ “ต้องใช้ในอนาคต” ไม่ใช่เป็นทางเลือกให้ใช้ และเราก็ต้องมาดูว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงด้านไหนและอย่างไร ทั้งการทำงานและการเรียนการสอน เราต้องพัฒนาตัวเราและช่างของเราให้เท่าทันเทคโนโลยี เพราะการพัฒนาในภาคนี้ไม่มีที่สิ้นสุด”
กว่าหลายทศวรรษที่ผ่านมา อุปกรณ์ที่ช่วยสร้างความเย็นส่วนใหญ่ในประเทศใช้สารทำความเย็นสังเคราะห์ อาทิ สารทำความเย็นที่มีฟลูออไรด์ หรือกลุ่มก๊าซฟลูออริเนต ซึ่งทำลายชั้นบรรยากาศและส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นในประเทศไทย เริ่มหันมาใช้เทคโนโลยีทำความเย็นสีเขียวหรือสารทำความเย็นธรรมชาติที่มีศักยภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว จากการเปลี่ยนแปลงนี้ ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรภาคบริการในการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติอย่างปลอดภัย
ฝึกอบรมให้ตรงกับความต้องการของตลาด
ในการอบรมนี้ มจพ. แนะนำการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ เช่น สารทำความเย็น R290 สำหรับใช้กับเครื่องปรับอากาศและตู้แช่ เนื่องจากสารดังกล่าวนั้นมีค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (GWP) ที่ต่ำ ซึ่งจะช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ นอกจากนี้ การใช้สารทำความเย็น R290 ยังสามารถลดการใช้พลังงานให้น้อยลงได้ถึงร้อยละ 5 – 25 และมีคุณสมบัติในการถ่ายเทความร้อนในระบบทำความเย็นที่ดีเยี่ยม นำไปสู่การพัฒนาเครื่องปรับอากาศที่มีคุณภาพสูง ที่ประหยัดพลังงานและค่าไฟฟ้าได้
หลักสูตรการฝึกอบรมการจัดการใช้สารทำความเย็นที่ติดไฟได้อย่างปลอดภัย และการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมทั้งหมด 8 แห่งทั่วประเทศได้รับการสนับสนุนจาก 5 หน่วยงานหลัก ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ครอบคลุมการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคกลาง โดยมีทีมจาก มจพ. เป็นผู้ดูแลเรื่องหลักสูตรที่เหมาะสมในประเทศไทย
การฝึกอบรมครั้งที่ 1 ได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ที่ มจพ. และเป็นจุดเริ่มต้นของการฝึกอบรมอีก 12 ครั้งทั่วประเทศ นอกเหนือจากความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับประเภทของสารทำความเย็นต่างๆ แล้ว การฝึกอบรมยังเน้นในเรื่องทักษะการเชื่อมที่ไม่ให้เกิดการรั่วไหลของสารทำความเย็น โดยเน้นเทคนิคการบัดกรีแข็ง การต่อท่อทองแดง การทำสุญญากาศ การเติมสารทำความเย็นและข้อควรระวังในการทำงานกับสารทำความเย็นธรรมชาติที่อาจติดไฟได้
ช่างและครูฝึกช่างเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นพันธุ์ใหม่
ห้องเรียนขนาดกะทัดรัด และการผสมผสานระหว่างความรู้ทางเทคนิคและทฤษฎีที่จำเป็นสำหรับช่างไทยทำให้บรรยากาศการเรียนการสอนเป็นไปด้วยดี เสียงจากผู้เข้าร่วมอบรมต่างบอกไปในทิศทางเดียวกันว่าพวกเขาได้ประโยชน์มากๆ จากการอบรมครั้งนี้ “การอบรมนี้มีประโยชน์ต่อทุกคนมาก ควรที่จะเข้ามาอบรมและเรียนรู้การจัดการสารทำความเย็นตัวใหม่ (R290) ซึ่งสารทำความเย็นที่ติดไฟตัวนี้จะปลอดภัย หากเรารู้จักการจัดการใช้งานที่ถูกต้องและถูกวิธี และเราสามารถนำไปปฏิบัติงานได้จริงเช่นเดียวกับการใช้สารทำความเย็นอื่นๆ ทั่วไป” นางสาวรัชวรรณ ทองน่วม ครูช่างจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน จังหวัดลำปางกล่าว
สำหรับอาจารย์ฉัตรชาญ อาจารย์เพียงแต่หวังว่าผู้ที่เข้ารับการอบรมจะนำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดไปบอกต่อ “ผมหวังว่าพวกเขาจะนำความรู้ที่ได้ไปสอนคนอื่นๆ และสอนวิธีการที่ถูกต้อง”
เมื่อถามถึงจุดแข็งของช่างสาขานี้ อาจารย์บอกว่า “สาขานี้เป็นที่ต้องการมาก เพราะประเทศไทยร้อน ทุกพื้นที่ล้วนต้องการเครื่องปรับอากาศ ช่างในอาชีพนี้จะมีงานเข้ามาให้ทำงานได้ตลอดทั้งปี”
หลักสูตรการฝึกอบรมนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมของโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ ในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น (RAC NAMA) เป็นเวลากว่า 3 ปีที่โครงการฯ ได้สนับสนุนการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติในอุปกรณ์ทำความเย็น ได้แก่ ตู้เย็นครัวเรือน ตู้แช่สินค้า เครื่องปรับอากาศ และระบบทำความเย็นขนาดใหญ่
ภายในปี พ.ศ. 2563 ทางโครงการฯ ตั้งเป้าการฝึกอบรมช่างและครูฝึกในภาคอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นจำนวน 200 คนทั่วประเทศไทย เพื่อให้เข้าใจวิธีใช้งานที่ปลอดภัยและเห็นประโยชน์ของสารทำความเย็นสีเขียว หรือ Green Cooling อย่างแท้จริง