เมื่อวันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2561 สผ. และ GIZ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อนำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้นในภาพรวมด้านการเงิน เพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) และร่วมหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เป้าประสงค์หลักเพื่อการขับเคลื่อนการเงินเพื่อบรรลุเป้าหมาย NDC ของประเทศไทย (รูปภาพโดย คุณเด่นพงษ์ น้ำนวล)
ประเทศไทย จำเป็นที่จะต้องอาศัยแหล่งเงินทุนทั้งจากภายในและต่างประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในเรื่องของการหาแหล่งเงินทุนจากทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อช่วยในการแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลไทยให้ความสนใจ ภายใต้กรอบความร่วมมือไทย – เยอรมันเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และ GIZ กำลังทำงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อกลไกการเงินเพื่อโลกร้อน
เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินการเรื่องสภาพภูมิอากาศภายในประเทศ สผ.และ GIZ จึงได้จัด“การประชุมเชิงปฏิบัติเพื่อนำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้นในภาพรวมด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (Climate Finance)” ขึ้น เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และร่วมหารือด้านนโยบายการเงินที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับหน่วยงานในการระดมทุนด้านสภาพภูมิอากาศ
ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สผ. มีภารกิจในการกำกับ ดูแล และตรวจสอบให้แน่ใจว่าประเทศไทยกำลังดำเนินการตามเป้าหมายด้านสภาพอากาศของประเทศ โดย GIZ สนับสนุน สผ. ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับหน่วยงานเพื่อระดมเงินทุนสำหรับการดำเนินงานตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions: NDC)
ภายใต้แผนงานความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Thai – German Climate Programme: TGCP) GIZ ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ มาร่วมจัดทำกรอบการทำงานที่มีประสิทธิภาพและข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในแต่ละภาคส่วน โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการระดมและจัดสรรเงินทุนในการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ
ภายในการประชุมดังกล่าว กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียจากทั้ง 5 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคการเกษตร ภาคพลังงาน ภาคของเสีย ภาคการจัดการน้ำ และภาคขนส่ง ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และมุมมองที่เกี่ยวกับพื้นที่ที่มีความสำคัญในการจัดหาเงินทุนด้านสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนร่วมศึกษาการจัดหาแหล่งเงินทุนใหม่ ๆ ที่มีอยู่และมีศักยภาพเพียงพอสำหรับนำมาใช้ในบริบทของสภาพภูมิอากาศ และร่วมวิเคราะห์อุปสรรคและความท้าทายที่เกิดขึ้น ตอนท้ายของการประชุม ผู้มีส่วนได้เสียยังได้มีโอกาสหารือเกี่ยวกับมาตรการเพื่อเสริมสร้างกลไกของสถาบัน บริหารจัดการการเงินและผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนเพื่อให้มั่นใจว่ามีการดำเนินการตามเป้าหมายของ NDC ได้จริง
การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นการประชุมชุดแรกที่จัดโดยทีมงาน Climate Finance ภายใต้แผนงาน TGCP โดยงานหลักจะครอบคลุมเรื่องการสนับสนุนความร่วมมือของคู่ค้าในการเสริมสร้างกลไกทางการเงินในประเทศ การเพิ่มขีดความสามารถของผู้มีส่วนได้เสียในการเข้าถึงระบบการเงินระหว่างประเทศ และการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการจัดหาเงินทุนและการลงทุนด้านสภาพภูมิอากาศ
ในเดือนตุลาคมปีพ. ศ. 2561 คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (the Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ได้ระบุในรายงานว่าอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นได้เกิดขึ้นจริงและส่งผลกระทบต่อหลายประเทศทั่วโลก ดังนั้นการพยายามลดและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามข้อตกลงปารีส จะเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นสำหรับชุมชนและระบบเศรษฐกิจ ซึ่งการหาแหล่งเงินทุนเพื่อการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้การดำเนินการลุล่วงตามเป้าหมายที่ทุกประเทศตั้งร่วมกัน