บุคลากรท้องถิ่น คือ หัวใจหลักในการแปลงนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่
บทบาทของเมืองและเทศบาล
ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการจัดทำแผนในระดับจังหวัด ทำอย่างไรบุคลากรท้องถิ่นจึงจะสามารถบูรณาการประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่กระบวนการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด โดยสอดรับกับบริบทและทิศทางการพัฒนาของพื้นที่นั้นๆ ซึ่งแต่ละพื้นที่มีบริบทที่แตกต่างกันไป เช่น บางพื้นที่อาจจะประสบกับปัญหาการจัดการน้ำ การกัดเซาะชายฝั่ง การขาดแคลนพื้นที่สีเขียว และการบริหารจัดการขยะ
ด้วยเหตุนี้ บุคลากรจากพื้นที่นำร่องจำนวน 17 จังหวัดและ 32 เทศบาล ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศจึงร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์การจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เชื่อมโยงกับบริบทการพัฒนาของแต่ละพื้นที่ ตลอดจนความสำเร็จและความท้าทายที่ได้พบ
การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทำให้พบปัจจัยหลายอย่างที่เกื้อหนุน เช่น การสนับสนุนจากผู้มีอำนาจตัดสินใจ ความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ในขณะที่ความต่อเนื่องของโครงการฯ ความรู้ด้านวิชาการเป็นประเด็นที่ในหลายๆ พื้นที่ต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติม ซึ่งเทศบาลตำบลเชียงรากน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นหนึ่งตัวอย่างในการหยิบประเด็นปัญหาในท้องที่มาจัดลำดับความสำคัญเพื่อเร่งดำเนินการ จากการลงพื้นที่พบว่าเทศบาลตำบลเชียงรากน้อยต้องการลดปริมาณของเสียตามแนวทาง 3Rs (reduce, reuse, recycle) ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการของเสียและการส่งเสริมการแปลงของเสียให้เป็นพลังงานด้วยเทคโนโลยี ดังนั้น จึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคของเสียเป็นเป้าหมายระยะสั้น การปิดบ่อขยะมูลฝอยแบบเทกองโดยการใช้หลักการ 3Rs เป็นเป้าหมายระยะกลาง และขยะมูลฝอยได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องและไม่มีสถานที่กำจัดมูลฝอยแบบเทกองในพื้นที่เป็นเป้าหมายระยะยาว
หัวใจหลักของการนำนโยบายระดับชาติไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ คือ บุคลากรท้องถิ่นในฐานะที่เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติจริง ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นที่เป็นหน่วยงานฝ่ายปฏิบัติจะต้องมีความรู้และความพร้อมในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปสู่การดำเนินงานในพื้นที่
รูปที่ 1: โครงการการดำเนินงานด้านนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (พ.ศ. 2561-2564) ภายใต้แผนงานความร่วมมือไทย-เยอรมันด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้สนับสนุน สผ. ในการเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรภาครัฐ ทั้งจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และระดับจังหวัด รวมถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเสริมสร้างเครือข่ายการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนนโยบายและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ (เครดิตภาพ:อนุสรา แท่นพิทักษ์)
รูปที่ 2: บุคลากรในภาพคือกลุ่มแรกที่ได้รับการฝึกอบรมการจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เชื่อมโยงกับบริบทการพัฒนาของแต่ละพื้นที่ และการบูรณาการประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่กระบวนการจัดทำแผนในระดับจังหวัด ในระหว่างปี พ.ศ. 2557-2560 โดยในการประชุมครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อถอดบทเรียนจากการดำเนินการที่ผ่านมา (เครดิตภาพ: อนุสรา แท่นพิทักษ์)
การตอบสนองต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ
หากมองไปในอดีตเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจดูเป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่ในปัจจุบันได้กลายเป็นประเด็นที่ใกล้ตัวมากขึ้น มนุษย์ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ การเกิดภัยพิบัติที่บ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของฤดูกาล ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ
ประเทศไทยได้ถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ประสบความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากภัยธรรมชาติลำดับที่ 10 ในปี พ.ศ. 2562 โดยการประเมินของ Germanwatch ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงผลกำไรของประเทศเยอรมนี
ด้วยเหตุนี้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จึงได้จัดทำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558 –2593 เพื่อใช้เป็นกรอบนโยบายสำหรับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิกาศของประเทศ มุ่งสู่การมีภูมิคุ้มกันและมีการเติบโตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
“รายงาน Global Risks Report 2019 ได้ประเมินความเสี่ยงที่โลกมีโอกาสที่จะเผชิญในปี พ.ศ. 2562 โดยความเสี่ยง 3 อันดับแรกได้แก่ (1) สภาพอากาศที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น (2) ความล้มเหลวในการดำเนินงานเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ (3) ภัยพิบัติจากธรรมชาติ เป็นการแสดงให้เห็นว่าทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้” ดร. ณัฏฐนิช อัศวภูษิตกุล ผู้อำนวยการกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สผ.กล่าว
โดยแผนแม่บทฯ ประกอบด้วย เป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานใน 3 ด้าน ได้แก่ การปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการเติบโตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ และการสร้างขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สผ. ในฐานะหน่วยประสานงานกลางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ มีบทบาทในการสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการแผนแม่บทฯ ในการวางแผนระดับภูมิภาคและจังหวัด ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าว ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ด้วยเหตุนี้ โครงการการดำเนินงานด้านนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้แผนงานความร่วมมือไทย-เยอรมันด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงได้สนับสนุน สผ. ในการเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรภาครัฐทั้งจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และระดับจังหวัด และได้จัดการประชุมเพื่อติดตามและประเมินผลการดำเนินงานในพื้นที่ 17 จังหวัด 32 เทศบาลจากการดำเนินโครงการที่ผ่านมา ก่อนที่จะขยายผลการดำเนินงานให้ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศต่อไป
ทั้งนี้ ภายในปี พ.ศ. 2564 โครงการฯ คาดว่า 77 จังหวัดทั่วประเทศไทยจะได้เรียนรู้และมีกระบวนการวางแผนพัฒนาจังหวัดที่คำนึงถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสามารถบูรณาการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่การวางแผนการพัฒนาได้
องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ดำเนินงานอย่างใกล้ชิดกับ สผ. ในการพัฒนานโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในสาขาการดำเนินงานที่สำคัญ รวมถึงการวางยุทธศาสตร์ในการบูรณาการนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาศักยภาพบุคลากรภายใต้กระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในนามของกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติและความปลอดภัยทางปรมาณูแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU) ผ่านแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (International Climate Initiative: IKI) โดยแผนงานความร่วมมือไทย-เยอรมันด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Thai-German Climate Programme: TGCP) มีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2561-2564 ผ่านการสนับสนุนด้านการพัฒนานโยบาย การแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ การจัดทำระบบการตรวจวัด การรายงานและการทวนสอบ กลไกทางการเงินและความร่วมมือระหว่างประเทศ
GALLERY