ความเป็นมา
เกษตรกรรมถือเป็นแหล่งรายได้หลักของประชากรในประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) อย่างไรก็ดี ผลิตผลจากภาคดังกล่าวได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปรากฏการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น บริการทางการเงินที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้นไม่เพียงพอต่อการคุ้มครองเกษตรกรรายย่อยและผลผลิตทางการเกษตรจากความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศอย่างเหมาะสม
แม้ว่าจะมีการส่งเสริมการให้บริการทางการเงินเพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ และระบบประกันภัยการเกษตรจะเป็นเพียงความสำเร็จในระยะเริ่มแรกในภูมิภาคอาเซียน แต่การบริการทางการเงินและองค์ประกอบทางวิชาการของโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันยังคงต้องการการสนับสนุนด้านความรู้และนวัตกรรมประกอบ นอกเหนือจากนี้ ยังต้องส่งเสริมความตระหนักรู้และความรู้ทางการเงินเพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศให้กับเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องให้ดียิ่งขึ้น
วัตถุประสงค์
ยกระดับการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินให้กับเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรทั้งชายและหญิง มีศักยภาพในการปรับตัวและตอบสนองต่อความเสี่ยงด้านสภาพอากาศ
แนวทางการดำเนินงาน
เพื่อบรรลุเป้าหมาย โครงการได้ดำเนินโครงการตามสี่แนวทางดังต่อไปนี้
แนวทางที่ 1: ส่งเสริมความรู้ด้านการเงินเพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากสภาพอากาศในอาเซียน ผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิชาการในระดับภูมิภาค และศึกษาเชิงนโยบายเกี่ยวกับการเงินเพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ
แนวทางที่ 2: สนับสนุนสถาบันการเงินในการพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ และจัดการฝึกอบรมสำหรับสถาบันการเงิน
แนวทางที่ 3: เพิ่มพูนความสามารถ ยกระดับทักษะและความรู้ของเกษตรกรและหน่วยงานนอกภาคทางการเงิน โดยการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมและจัดการฝึกอบรมสำหรับองค์กรพันธมิตรและกลุ่มเป้าหมายในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง
แนวทางที่ 4: ส่งเสริมการเงินเพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศให้สอดคล้องกับมาตรฐานความยั่งยืนด้วยการปรับปรุงกระบวนการให้ได้มาตรฐาน และเปิดรับความคิดเห็นที่ครอบคลุมถึงเกษตรกรหญิง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการเกษตรอย่างยั่งยืน
การมีส่วนร่วมของประเทศสมาชิกอาเซียนในระดับภูมิภาค
โครงการฯ มุ่งสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกอาเซียนได้แลกเปลี่ยนความรู้อย่างต่อเนื่อง โครงการฯ จะดําเนินงานร่วมกับคณะทํางานที่เกี่ยวข้องของอาเซียนและโครงการริเริ่มอื่นๆ ในด้านการเกษตร การเงินและสภาพภูมิอากาศเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการเงินเพื่อการปรับตัวและรับมือต่อความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตร ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายหรือแผนงานที่มีการผนวกเรื่องเครื่องมือทางการเงินเพื่อการปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศในภาคการเกษตรสามารถนําเสนอไปยังหน่วยงานในระดับอาเซียนที่เหนือคณะทํางานขึ้นไป เพื่อนําไปสู่ความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในระดับภูมิภาค ทําให้ประเทศสมาชิกอาเซียน หน่วยงาน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของอาเซียนสามารถดำเนินงานในหัวข้อดังกล่าวได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาวทั้งในและระหว่างประเทศ
การดำเนินการในระดับประเทศ (อินโดนีเซีย ไทย และเวียดนาม)
โครงการฯ จะให้การสนับสนุนพืชหลัก 2 ชนิด ได้แก่ ข้าว (ไทย และเวียดนาม) และโกโก้ (อินโดนีเซีย) เพื่อให้มีกิจกรรมนําร่องในระดับประเทศ โครงการจะทํางานร่วมกับภาคีในประเทศโดยจะให้คำปรึกษาและออกแบบกิจกรรมร่วมกัน เช่น หลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพและความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่หรือผู้ที่เกี่ยวข้องจากสถาบันการเงินและผู้ให้บริการเทคโนโลยี การจัดฝึกอบรมให้หน่วยงานภาครัฐ สหกรณ์ และองค์กรพัฒนาเอกชน การจัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ให้เกษตรกรในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ และบริการทางการเงิน เช่น การบริหารจัดการเงินและประโยชน์ของบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อการปรับตัวต่อความเสี่ยง ด้านสภาพภูมิอากาศเพื่อให้เกษตรกรตระหนักถึงความสําคัญและมีการใช้บริการและผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมากขึ้น
นอกจากนี้ โครงการจะสนับสนุนการเงินเพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศให้สอดคล้องกับมาตรฐานความยั่งยืนที่เอื้อต่อทั้งเกษตรกรทั้งชายและหญิง และจะมีการนําร่องเพื่อเป็นการสื่อสารแนวคิดนี้ต่อไป เช่น การมีส่วนร่วมในกระบวนการร่างกลไกมาตรฐานความยั่งยืนทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อการปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศและเอื้อต่อเกษตรกรทั้งชายและหญิงในระดับพื้นฐานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจัดทําข้อเสนอแนะเพื่อเป็นแนวทางดําเนินการ และกรณีศึกษาจากโครงการฯเพื่อเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต
สนับสนุนงบประมาณโดย
กระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ)
ประเทศ
10 ประเทศสมาชิกอาเซียน และระดับประเทศในอินโดนีเซีย (โกโก้) ไทย และเวียดนาม (ข้าว)
หน่วยงานร่วมดำเนินงาน
คณะทํางานด้านพืชของอาเซียน (ASWGC)
ระยะเวลาดำเนินโครงการ
มกราคม พ.ศ. 2566 – ธันวาคม พ.ศ. 2568