ความเป็นมา
ในช่วงฤดูแล้งปี พ.ศ.2565 จนถึงต้นปี พ.ศ. 2566 ภาคเหนือของประเทศไทย และภูมิภาคใกล้เคียงประสบปัญหามลพิษทางอากาศจากหมอก และควันพิษ ต้นตอของปัญหามีความซับซ้อน สาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือการเผาเศษซากวัสดุทางการเกษตรหลังการเก็บเกี่ยว ได้แก่ ฟางข้าว ตอซัง วัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมข้าวโพด และอ้อย การเกิดไฟป่าในภูมิภาคทำให้ปัญหาทวีความรุนแรง
อันที่จริงแล้วฟางข้าวสามารถถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังการเกี่ยวข้าว เกษตรกรจะทิ้งฟาง และตอซังไว้ในแปลง และเผากำจัด เพื่อเตรียมแปลงสำหรับการปลูกในรอบถัดไป เมื่อขาดแนวทางการจัดการเศษซากวัสดุทางการเกษตรที่เหมาะสม เกษตรกรจึงเลือกการเผา แม้ทราบถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพ และมลพิษทางอากาศ อีกทั้งยังเป็นการเสียโอกาสที่จะขายฟางเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ หากมีวิธีการรวบรวม จัดเก็บ และแปรรูปฟางและตอซังที่เหมาะสม เกษตรกรจะสามารถประยุกต์ใช้เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางสร้างรายได้ รวมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสู่ความยั่งยืน แทนที่การเผาได้
องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมกับพันธมิตรระดับประเทศ และภูมิภาค มุ่งเน้นการส่งเสริมการจัดการภูมิทัศน์ และใช้ประโยชน์วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรอย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะจากการปลูกข้าว เพื่อลดปัญหาการเผาวัสดุทางการเกษตร
วัตถุประสงค์
โครงการฯมีจุดประสงค์หลักเพื่อนำร่อง และประเมินแนวทางการใช้ประโยชน์ฟางข้าวอย่างสร้างสรรค์และรวมทั้งต้นแบบธุรกิจเพื่อลดการเผาในที่โล่งในภูมิภาคอาเซียน
แนวทางการดำเนินงาน
- ทำการศึกษาและนำร่องการพัฒนาต้นแบบธุรกิจที่สร้างสรรค์เพื่อการใช้ประโยชน์จากฟางข้าวอย่างยั่งยืน เช่น นำของเสียจากการเพาะปลูกมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ หรือ สกัดเซลลูโลสจากฟางข้าวมาผลิตกระดาษ หรือบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ โดยร่วมมือกับสำนักเลขาธิการอาเซียน และบริษัท อูรมัต จำกัด ซึ่งเป็นเอกชนที่ผลิตข้าวอินทรีย์
- ถ่ายทอดความรู้ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างประเทศกำลังพัฒนา โดยนำผลจากการศึกษาโครงการนำร่องในไทยไปแลกเปลี่ยนในเวทีการแลกเปลี่ยนใต้-ใต้ ภายในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจะแปรเป็นข้อเสนอแนะทางนโยบาย ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อกระตุ้นกระบวนการทางนโยบายที่ครอบคลุมพื้นที่ในวงกว้างมากขึ้น ภายใต้การแนะนำของสำนักงานเลขาธิการอาเซียน นำโดยการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของการประชุมระดับรัฐมนตรีเกษตรและป่าไม้ของอาเซียน (Senior Officials Meeting of the ASEAN Ministers on Agriculture and Forestry; SOM-AMAF).
สนับสนุนงบประมาณโดย
กระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) และอาเซียน
ประเทศ
ประเทศไทย
หน่วยงานร่วมดำเนินงาน
สำนักเลขาธิการอาเซียน (พันธมิตรด้านการกำกับดูแล) และ บริษัท อูรมัต จำกัด
ระยะเวลาดำเนินโครงการ
มกราคม พ.ศ.2566 – พฤษภาคม พ.ศ.2568