ความเป็นมา
แม้ว่าความต้องการกาแฟจะมีสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ทว่าหลายปีที่ผ่านมานี้ การผลิตกาแฟในประเทศผู้ผลิตหลักๆ ในภูมิภาคลดลงเป็นอย่างมาก สาเหตุหลักของผลผลิตกาแฟที่ลดลง ได้แก่ พื้นที่ปลูกกาแฟลดลงแต่ในขณะเดียวกันมีความต้องการและการบริโภคที่สูงขึ้น ดินเสื่อมโทรมขาดความอุดมสมบูรณ์ ต้นกาแฟอายุมาก (อายุมากกว่า25 ปี) ขาดการดูแลรักษา ตัดแต่งทรงพุ่ม สวนมีสภาพเสื่อมโทรมและมีการใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ เกษตรกรยังขาดความรู้และทักษะในการเป็นผู้ประกอบการเกษตรเชิงธุรกิจ (agripreneurship) และขาดการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP)
วัตถุประสงค์
เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟรายย่อยในพื้นที่เป้าหมายในประเทศไทย (2,000 ราย) ฟิลิปปินส์ (1,500 ราย) และอินโดนีเซีย (7,000 ราย) จำนวนทั้งสิ้น 10,500 ราย ได้พัฒนาระบบการปลูกกาแฟที่สามารถมีผลผลิตเพิ่มขึ้น สร้างรายได้มากขึ้น รวมถึงมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
แนวทางการดำเนินงาน
องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมกับบริษัท เนสท์เล่ จำกัด ดำเนินโครงการพัฒนาระบบการผลิตกาแฟของผู้ประกอบการรายย่อยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือโครงการคอฟฟี่พลัส โดยได้ทำงานร่วมกันในการสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟโรบัสต้าใน 3 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 10,500 ราย ในจำนวนนี้เป็นเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในประเทศไทย 2,000 ราย
เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนด ทางโครงการคอฟฟี่พลัส ได้มีการออกแบบการดำเนินงานใน 3 ระดับไปพร้อมๆ กัน กล่าวคือ ระดับปัจเจคบุคคล-เกษตรกร ระดับองค์กร และระดับนโยบาย
ในระดับเกษตรกร
ทางโครงการฯ ได้ให้การสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในการเพิ่มทักษะและองค์ความรู้ในการทำการเกษตรเชิงธุรกิจ ภายใต้หลักสูตร “โรงเรียนธุรกิจเกษตร (Farmer Business School – FBS)” ซึ่งพัฒนาโดย GIZ เพื่อเสริมสร้างทักษะการเป็นผู้ประกอบการและวางพื้นฐานที่นำไปสู่การบริหารจัดการแปลงเกษตรแบบมืออาชีพ อีกทั้งยังมีการฝึกอบรมหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) เพื่อพัฒนาทักษะทางเทคนิคในเรื่องการเพิ่มผลผลิตกาแฟ การจัดการดินและธาตุอาหาร การปลูกกาแฟแบบผสมผสาน การฟื้นฟูสภาพต้นกาแฟ และอื่นๆ และการทำแปลงสาธิตเพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ให้แก่เกษตรกร
ในระดับองค์กร
โครงการฯ ยังได้ช่วยสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ และสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน และเพื่อเสริมสร้างโครงสร้างองค์กรท้องถิ่นเดิมที่มีอยู่ สร้างความเป็นเจ้าของในท้องถิ่นและให้คงอยู่อย่างยั่งยืน
ในระดับนโยบาย
เพื่อความยั่งยืนของแนวทางและวิธีการทำงาน ตลอดทั้งเครื่องมือที่ทางโครงการฯ ใช้ในการดำเนินงาน ทางโครงการฯ จึงได้มีการดำเนินงานในระดับนโยบายและการมีส่วนร่วมควบคู่กันไป โดยโครงการฯ ได้ให้การสนับสนุนทั้งในการนำเสนอข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์และอำนวยความสะดวกในการปรับและนำแผนยุทธศาสตร์กาแฟของไทยไปใช้ทั้งในระดับประเทศและจังหวัด ในการนี้ทางโครงการฯ ได้ให้การสนับสนุนการนำนโยบายกาแฟในระดับประเทศลงไปสู่การปฏิบัติในระดับท้องถิ่นด้วยการเข้าร่วมเป็นแกนนำและอำนวยความสะดวกในการพัฒนายุทธศาสตร์กาแฟโรบัสต้าชุมพรให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมและนำไปใช้อย่างเป็นทางการเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานให้เกิดการพัฒนากาแฟโรบัสต้าชุมพรอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ทางโครงการฯ ได้ร่วมมือกับพันธมิตรเครือข่ายเพื่อการเรียนรู้ในการเผยแพร่องค์ความรู้ เครื่องมือ ตลอดทั้งแนวทางวิธีการดำเนินงานของโครงการฯ ไปสู่ทุกภาคส่วนอย่างกว้างขวาง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และบทเรียนผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐในพื้นที่และระดับประเทศ รวมทั้งภาคประชาสังคม การนำองค์ความรู้ที่มีถ่ายทอดให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกร หรือผู้สนใจต่อไป
ผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมา
-
- การเสริมสร้างศักยภาพเกษตรกร องค์กรเกษตรกร/ กลุ่มเกษตรกร ผ่านหลักสูตร “โรงเรียนธุรกิจเกษตร (FBS)”
- ครูฝึก/ผู้ฝึกสอน: การจัดฝึกอบรมครูฝึกหลักสูตร “โรงเรียนธุรกิจเกษตร (FBS)” และการฝึกอบรมทบทวนความรู้ให้แก่ครูฝึกหลักสูตร “โรงเรียนธุรกิจเกษตร (FBS)”
- เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ: การจัดอบรมเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟหลักสูตร “โรงเรียนธุรกิจเกษตร (FBS)” ให้กับเกษตรกรทั้งสิ้น 2,020 ราย (กันยายน พ.ศ. 2561 – มกราคม พ.ศ. 2563) และได้มีการติดตามเกษตรกร และมีการทบทวนความรู้ให้กับเกษตรกรที่ได้รับการอบรมไปแล้วจำนวน 1,511 ราย ในจำนวนนี้มีเกษตรกรที่ได้นำความรู้ที่ได้รับจากหลักสูตรโรงเรียนธุรกิจเกษตรไปปฏิบัติคิดเป็น 59.76% นอกจากนี้ยังได้มีการจัดอบรมเพิ่มเติม ทักษะทางเทคนิคในเรื่องการเพิ่มผลผลิตกาแฟ การลดต้นทุนโดยการผสมปุ๋ยใช้เอง การจัดการดินและธาตุอาหาร การปลูกพืชผสมผสาน การฟื้นฟูสภาพต้นกาแฟ และอื่นๆ โดยมีเกษตรกรที่ได้นำความรู้เรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีในแปลง เทคนิคการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน และอื่นๆ ไปปฏิบัติคิดเป็น 62%
- องค์กรเกษตรกร/กลุ่มเกษตรกร: การเข้ามามีส่วนร่วมขององค์กรเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร โดยการทำแผนร่วมกัน การจัดฝึกอบรมให้กับกลุ่มเกษตรกรในเรื่องต่างๆ และการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ระหว่างกลุ่มที่มีความเข้มแข็งแล้วกับกลุ่มที่เพิ่งเริ่มจัดตั้ง
- องค์ความรู้
- คู่มือครูฝึก/ผู้ฝึกสอนหลักสูตร “โรงเรียนธุรกิจเกษตร (FBS)”
- คู่มือและแบบฝึกหัดสำหรับเกษตรกรหลักสูตร “โรงเรียนธุรกิจเกษตร (FBS)”
- หลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) และเทคนิคในเรื่องการเพิ่มผลผลิตกาแฟ การลดต้นทุนโดยการผสมปุ๋ยใช้เอง การจัดการดินและธาตุอาหาร การปลูกผสมผสาน การฟื้นฟูสภาพต้นกาแฟ และอื่นๆ
- คู่มือการปลูกพืชร่วมกับพืชกาแฟ (Intercropping Model) ฉบับภาษาไทยและอังกฤษ
- สื่อการสอนการ์ตูนพร้อมภาพเคลื่อนไหวแบบ 2 มิติ (FBS infographic 2D animation ) เพื่อให้ความรู้ในหลักสูตร “โรงเรียนธุรกิจเกษตร (FBS)”
- คู่มือฉบับการ์ตูนให้ความรู้ในหลักสูตร “โรงเรียนธุรกิจเกษตร (FBS) ”
- แพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการเรียนรู้หลักสูตร “โรงเรียนธุรกิจเกษตร (FBS)” ผ่านระบบฐานข้อมูล SmartBox, แอพพลิเคชั่น Plant for U ในระบบแอนดรอยด์และแท็บเล็ต
- การปลูกพืชแบบผสมผสาน
- แบบจำลองการปลูกพืชผสมผสาน การปลูกพืชร่วมกับพืชกาแฟจำนวน 3 แบบ
- การจัดทำแปลงสาธิตการปลูกพืชผสมผสาน การปลูกพืชร่วมกับพืชกาแฟจำนวน 17 แปลง เพื่อเป็นต้นแบบให้เกษตรกรรายอื่นได้เรียนรู้
- ความร่วมมือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่างๆ
- ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น (ในการนำแผนยุทธศาสตร์กาแฟระดับชาติไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมในระดับท้องถิ่น การสนับสนุนให้เกิดแผนยุทธศาสตร์กาแฟโรบัสต้าจังหวัดชุมพร การสนับสนุนให้เกิดคณะทำงานขับเคลื่อนการทำงานตามแผนยุทธศาสตร์กาแฟโรบัสต้าจังหวัดชุมพร)
- ความร่วมมือกับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร ในการจัดทำหลักสูตร “โรงเรียนธุรกิจเกษตร (FBS)” สำหรับพืชกาแฟ เป็นหลักสูตรระยะสั้นของวิทยาลัยฯ และการจัดทำแปลงสาธิตการปลูกพืชร่วมกับพืชกาแฟในพื้นที่ของวิทยาลัยฯ
- ความร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในการจัดคอร์สอบรม เพื่อให้ความรู้ในหลักสูตร “โรงเรียนธุรกิจเกษตร (FBS)” แบบออนไลน์
- การยอมรับและนำองค์ความรู้ที่ได้จากโครงการไปใช้ในองค์กร
- ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อขยายเครือข่ายการเรียนรู้และนำองค์ความรู้ที่ได้จากโครงการไปใช้ในการปฏิบัติงานในส่วนงานที่เกี่ยวข้องขององค์กร (จัดอบรมวิทยากรในหลักสูตร “โรงเรียนธุรกิจเกษตร (FBS)” ให้กับเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรและหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมกาแฟแห่งประเทศไทย)
- เผยแพร่องค์ความรู้ในหลักสูตร “โรงเรียนธุรกิจเกษตร (FBS)” ในรูปแบบสื่อการสอนการ์ตูนพร้อมภาพเคลื่อนไหวแบบ 2 มิติ (FBS infographic 2D animation) ผ่านระบบ SmartBox ภายใต้การกำกับดูแลของกรมวิชาการเกษตร (DOA)
- หลักสูตร “โรงเรียนธุรกิจเกษตร (FBS)” ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบในงานด้านส่งเสริมการเกษตรทั้งหน่วยงานหลักและหน่วยงานสนับสนุนอื่นๆ อันประกอบด้วยกรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร รวมไปถึงภาคการศึกษา อาทิ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยทางโครงการฯ ได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นในการจัดทำแผนการทำงานร่วมกัน เพื่อจัดการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีความพร้อมทั้งในด้านทักษะและองค์ความรู้ในหลักสูตร “โรงเรียนธุรกิจเกษตร (FBS)” ให้สามารถออกไปปฏิบัติหน้าที่ในการให้การอบรมการเป็นวิทยากร (Training of Trainers) เพื่อไปอบรมเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ผู้ที่จะออกไปปฏิบัติหน้าที่ในการอบรมเกษตรกร (Training of Farmer) ในพื้นที่สำหรับหลักสูตร “โรงเรียนธุรกิจเกษตร (FBS)”
- ช่องทางการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ถูกจัดทำขึ้นผ่านความร่วมมือกับเครือข่ายการเรียนรู้ของกรมวิชาการเกษตรเพื่อขยายการเข้าถึงองค์ความรู้ในหลักสูตร “โรงเรียนธุรกิจเกษตร (FBS)” แก่เกษตรกรและเจ้าหน้าที่ ไปสู่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตร (ศพก.) 800 ศูนย์ทั่วประเทศ เพื่อเปิดช่องทางการเข้าถึงให้แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไปให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในหลักสูตร “โรงเรียนธุรกิจเกษตร (FBS) ” ได้อย่างแพร่หลายผ่านแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ หลากหลายช่องทาง เช่น:
สนับสนุนงบประมาณโดย
กระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) via DeveloPPP.de
ประเทศ
ประเทศไทย
หน่วยงานร่วมดำเนินงาน
บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด
ระยะเวลาการดำเนินโครงการ
มกราคม พ.ศ. 2561 – กรกฎาคม พ.ศ. 2565
รับชมวิดีโอเกี่ยวกับโครงการ
หลักสูตรโรงเรียนธุรกิจสำหรับเกษตรกร (Farmer Business School: FBS)
ข้อมูลเพิ่มเติม
Coffee+ | Sustainable Agrifood System in ASEAN (asean-agrifood.org)