GIZ ให้การสนับสนุนกองบริหารกองทุนสิ่งแวดล้อมในการขอรับการรับรองเป็นหน่วยงานปฏิบัติการระดับชาติ (Direct Access Entity: DAE) จากกองทุน GCF
ประเทศไทยในฐานะภาคีของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework on Climate Change: UNFCCC) ได้แสดงเจตน์จำนงค์ต่อประชาคมโลกที่จะดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้ได้ร้อยละ 20 จากกรณีปกติของประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2573 และอาจจะเพิ่มเป็นร้อยละ 25 ในกรณีที่ได้รับการสนับสนุนความช่วยเหลือด้านการเงิน องค์ความรู้และเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยประเทศไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) และโอกาสในการขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุน GCF อย่างไรก็ตามประเทศไทยจำเป็นต้องมีหน่วยงานปฏิบัติการระดับชาติ (Direct Access Entity: DAE) เพื่อการเข้าถึงการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุน GCF อย่างเต็มรูปแบบ
ระหว่างวันที่ 18-21 กันยายน พ.ศ. 2561 GIZ และผู้เชี่ยวชาญ ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อประเมินและวิเคราะห์ช่องว่างของกองทุนสิ่งแวดล้อมในการขอรับการรับรองเป็นหน่วยงานปฏิบัติการระดับชาติจากกองทุน GCF รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะ แนวปฏิบัติ และแผนที่นำทางเพื่อมุ่งสู่การได้รับการรับรองดังกล่าวต่อไป
โดยการดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้แผนงานความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Thai – German Climate Programme: TGCP) และโครงการเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานของกองทุน GCF ในประเทศไทย ระยะที่ 2 (Green Climate Fund Readiness and Preparatory Support Programme II: Scaling up Thailand’s climate finance readiness) ซึ่ง สผ. ร่วมกับสำนักเลขาธิการกองทุน GCF กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติและความปลอดภัยทางปรมาณู สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU) ผ่านองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมกันดำเนินงานเพื่อสนับสนุนกองทุนสิ่งแวดล้อมในการขอรับการรับรองจากกองทุน GCF ซึ่งเป็นกองทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน และเตรียมความพร้อมแก่หน่วยงานภายในประเทศ รวมทั้งภาคเอกชน ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากกองทุน GCF รวมถึงผลักดันการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนให้เกิดการลงทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การเข้าถึงกองทุน GCF จึงเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะสามารถขอรับการสนับสนุนทางการเงินเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้บรรลุเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) ต่อไป
การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หมายถึง การเงินที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรมด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) เป็นกลไกทางการเงินภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2553 ในการประชุมรัฐภาคีครั้งที่ 16 ที่เมืองแคนคูน สหรัฐเม็กซิโก โดยเริ่มดำเนินงานเต็มรูปแบบในปี พ.ศ. 2558 เพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของประชาคมโลกสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ และมีความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกองทุนให้การสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ กองทุนภูมิอากาศสีเขียวคำนึงถึงความเป็นเจ้าของประเทศและความต้องการของประเทศเป็นหลัก (สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมของกองทุน GCF ได้ที่ www.greenclimate.fund)
Marie Rossetti Climate Finance Director and Advisor to Country Director Email:marie.rossetti(at)giz.de
Data from the following embedded codes are sent to Google Inc. More information in our Privacy Policy.
YouTube
Enable or disable cookies for embedding and playing YouTube videos on our site.
(เปิดหรือปิดคุกกี้สำหรับการฝังและเล่นวิดีโอ YouTube บนเว็บไซต์ของเรา)