GIZ ให้การสนับสนุนกองบริหารกองทุนสิ่งแวดล้อมในการขอรับการรับรองเป็นหน่วยงานปฏิบัติการระดับชาติ (Direct Access Entity: DAE) จากกองทุน GCF
ประเทศไทยในฐานะภาคีของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework on Climate Change: UNFCCC) ได้แสดงเจตน์จำนงค์ต่อประชาคมโลกที่จะดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้ได้ร้อยละ 20 จากกรณีปกติของประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2573 และอาจจะเพิ่มเป็นร้อยละ 25 ในกรณีที่ได้รับการสนับสนุนความช่วยเหลือด้านการเงิน องค์ความรู้และเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยประเทศไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) และโอกาสในการขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุน GCF อย่างไรก็ตามประเทศไทยจำเป็นต้องมีหน่วยงานปฏิบัติการระดับชาติ (Direct Access Entity: DAE) เพื่อการเข้าถึงการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุน GCF อย่างเต็มรูปแบบ
ระหว่างวันที่ 18-21 กันยายน พ.ศ. 2561 GIZ และผู้เชี่ยวชาญ ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อประเมินและวิเคราะห์ช่องว่างของกองทุนสิ่งแวดล้อมในการขอรับการรับรองเป็นหน่วยงานปฏิบัติการระดับชาติจากกองทุน GCF รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะ แนวปฏิบัติ และแผนที่นำทางเพื่อมุ่งสู่การได้รับการรับรองดังกล่าวต่อไป
โดยการดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้แผนงานความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Thai – German Climate Programme: TGCP) และโครงการเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานของกองทุน GCF ในประเทศไทย ระยะที่ 2 (Green Climate Fund Readiness and Preparatory Support Programme II: Scaling up Thailand’s climate finance readiness) ซึ่ง สผ. ร่วมกับสำนักเลขาธิการกองทุน GCF กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติและความปลอดภัยทางปรมาณู สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU) ผ่านองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมกันดำเนินงานเพื่อสนับสนุนกองทุนสิ่งแวดล้อมในการขอรับการรับรองจากกองทุน GCF ซึ่งเป็นกองทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน และเตรียมความพร้อมแก่หน่วยงานภายในประเทศ รวมทั้งภาคเอกชน ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากกองทุน GCF รวมถึงผลักดันการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนให้เกิดการลงทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การเข้าถึงกองทุน GCF จึงเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะสามารถขอรับการสนับสนุนทางการเงินเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้บรรลุเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) ต่อไป
การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หมายถึง การเงินที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรมด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) เป็นกลไกทางการเงินภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2553 ในการประชุมรัฐภาคีครั้งที่ 16 ที่เมืองแคนคูน สหรัฐเม็กซิโก โดยเริ่มดำเนินงานเต็มรูปแบบในปี พ.ศ. 2558 เพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของประชาคมโลกสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ และมีความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกองทุนให้การสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ กองทุนภูมิอากาศสีเขียวคำนึงถึงความเป็นเจ้าของประเทศและความต้องการของประเทศเป็นหลัก (สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมของกองทุน GCF ได้ที่ www.greenclimate.fund)