เป็นเวลากว่าสามปี นับจากวันที่ประเทศภาคีสมาชิก 197 ประเทศได้ลงนามในความตกลงปารีส (Paris Agreement) ณ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 24 (COP 24) ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 15 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ณ เมืองคาโตวีเซ สาธารณรัฐโปแลนด์ ที่ประชุมได้ลงนามรับรอง Paris Agreement rulebook ซึ่งเป็นกฎ รูปแบบ และแนวทางในการดำเนินงานตามความตกลงปารีส เพื่อให้ประเทศต่างๆ ใช้ดำเนินการภายหลังปี พ.ศ. 2563
การจัดทำ Paris Rulebook
ประเทศภาคีสมาชิกได้ตกลงกันในเรื่องกฎ รูปแบบ และแนวทางในการดำเนินงานตามความตกลงปารีส หรือที่เรียกกันว่า Paris Rulebook เพื่อใช้ดำเนินการภายหลังปี พ.ศ. 2563 โดยกลไกนี้จะวางกรอบการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของแต่ประเทศให้ไปในทิศทางเดียวกัน และเน้นการปฏิบัติที่โปร่งใส
ประเทศภาคีสมาชิกต้องจัดส่งรายงานความคืบหน้าการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ตามข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศ (Nationally Determined Contribution: NDC) อย่างต่อเนื่องทุกๆ 5 ปี เริ่มในปีพ.ศ. 2563 และทุกๆ 2 ปี ต้องจัดส่งรายงานความโปร่งใส (Transparency Report)
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังตกลงให้มีการทบทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลก (Global Stocktake) ทุกๆ 5 ปี เพื่อประเมินความก้าวหน้าต่อการบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายระยะยาวของความตกลงปารีส โดยจะเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2563
อีกหนึ่งไฮไลท์ของการประชุม คือ การที่ประเทศพัฒนาแล้วประกาศเพิ่มการสนับสนุนเงินทุนที่ใช้ในการขับเคลื่อนกระบวนการการแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายของข้อตกลงปารีสที่มุ่งระดมทุนจากประเทศพัฒนาแล้วอย่างน้อย 100 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ภายในปีค.ศ. 2020 กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) เป็นกลไกทางการเงิน ภายใต้ UNFCCC ที่ใหญ่ที่สุดของโลกในขณะนี้ โดยสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาให้ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำและมีความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
แนวทางการเตรียมความพร้อมของประเทศไทย
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงสืบเนื่องจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อรับมือกับความท้าทายนี้ ประเทศไทยได้จัดส่งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ในภาคพลังงาน ขนส่ง ภาคของเสีย และภาคอุตสาหกรรม ภายหลังปี พศ. 2563 ให้ได้ร้อยละ 20-25 จากกรณีปกติ และดำเนินการด้านการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สผ. พร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว เพื่อรักษาประโยชน์ของประเทศและติดตามความก้าวหน้าของการประชุม ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 15 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ณ เมืองคาโตวีเซ สาธารณรัฐโปแลนด์
การประชุม COP สมัยที่ 25 จะจัดขึ้น ณ ประเทศชิลี และการประชุมเตรียมการณ์ (Pre-COP) จะมีขึ้นที่ประเทศคอสตาริกา