ยกระดับทักษะด้านดิจิทัลสำหรับวิทยากรในระดับภูมิภาคอาเซียนเพื่อฝึกอบรมครูฝึกในสถานประกอบการ

คุณบยอง อุค อี ผู้บริหารสถาบัน GIFTS โดยสำนักบริการพัฒนาบุคลากรแห่งเกาหลี (HRDK) และคุณมิเรียม ไฮท์มัน ผู้อำนวยการโครงการ RECOTVET ต้อนรับวิทยากรจากประเทศสมาชิกอาเซียนที่เข้าร่วมการฝึกอบรมในระดับภูมิภาค ระหว่างวันที่ 19 – 30 มิถุนายน พ.ศ. 2566 ณ เมืองอินชอน สาธารณรัฐเกาหลี
เพื่อเตรียมความพร้อมบุคลากรในภูมิภาคอาเซียนให้เท่าทันต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล วิทยากร 27 คนจากประเทศสมาชิกอาเซียนได้เข้ารับการฝึกอบรมในระดับภูมิภาค “Regional Master Trainer Training for In-Company Training” ซึ่งปีนี้จัดในรูปแบบแบบผสมผสานเป็นครั้งแรก โดยการอบรมแบบออนไลน์จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม ถึง 15 มิถุนายน พ.ศ. 2566 ตามด้วยการอบรมแบบออนไซต์ระหว่างวันที่ 19 ถึง 30 มิถุนายน พ.ศ. 2566 ณ สถาบัน Global Institute for Transferring Skills (GIFTS) โดยสำนักบริการพัฒนาบุคลากรแห่งเกาหลี (HRDK) เมืองอินชอน สาธารณรัฐเกาหลี การฝึกอบรมนี้เกิดจากโครงการความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อพัฒนาการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรม (RECOTVET) ของรัฐบาลเยอรมัน ดำเนินการโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และสำนักบริการพัฒนาบุคลากรแห่งเกาหลี (HRDK)
“วัตถุประสงค์หลักของการฝึกอบรมครั้งนี้คือการแนะนำแนวทางและวิธีการแบบใหม่ของการฝึกอบรมที่เหมาะสมในยุคดิจิทัล เพื่อผลักดันการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมแบบดั้งเดิมให้พัฒนาไปอีกขั้น” คุณบยอง อุค อี ผู้บริหารสถาบัน GIFTS โดย HRDK กล่าว
การฝึกอบรมครั้งนี้สอดคล้องกับมาตรฐานครูฝึกในสถานประกอบการในประเทศสมาชิกอาเซียน และตอบโจทย์ความต้องการในภูมิภาคเพื่อเตรียมความพร้อมบุคลากรในปัจจุบันและอนาคตให้เท่าทันต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยเนื้อหาประกอบด้วยการยกระดับทักษะ (upskilling) สำหรับวิทยากรที่เคยผ่านการฝึกอบรมให้มีทักษะจำเป็นเพิ่มเติมในด้านดิจิทัล และการฝึกอบรมฉบับเต็มสำหรับวิทยากรกลุ่มใหม่ ซึ่งได้รับการปรับปรุง (streamline) จากรูปแบบออนไซต์เดิมสู่รูปแบบผสมผสานในปัจจุบัน โดยมีจุดมุ่งหมายคือการพัฒนาทักษะของวิทยากรเพื่อให้สามารถออกแบบ ดำเนินการ และประเมินการฝึกอบรมครูฝึกในสถานประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพในยุคดิจิทัล

นอกจากผู้เข้าร่วมได้ศึกษาการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสาน (blended-learning) การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (learner-centred approach) และการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning) ซึ่งเป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่มีความสำคัญในยุคดิจิทัลแล้ว ยังได้มีโอกาสศึกษาดูงานที่สถาบันโปลีเทคนิคและสถานประกอบการเพื่อเรียนรู้แนวทางปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับแนวคิดการเรียนรู้จากการทำงาน (Work-based Learning) การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี (Dual Education System) และความก้าวหน้าของการปฏิวัติอุตสาหกรรม (4IR) รวมถึงเทคโนโลยีแห่งโลกอนาคตในสาธารณรัฐเกาหลีอีกด้วย

หลังจบการฝึกอบรม วิทยากรได้พัฒนาทักษะความรู้และมีความพร้อมมากขึ้นในการรับบทบาทสำคัญเพื่อส่งเสริมการฝึกอบรมในสถานประกอบการในประเทศของตนและขยายผลในระดับภูมิภาค ดังที่ คุณมิเรียม ไฮท์มัน ผู้อำนวยการโครงการ RECOTVET กล่าวว่า “เราได้เห็นกระบวนการที่สร้างแรงบันดาลใจ ทั้งด้านการเรียนรู้ การเติบโต และความร่วมมือของเหล่าวิทยากรที่มาจากวัฒนธรรมและบริบทที่แตกต่างกันในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงความมุ่งมั่นที่น่าชื่นชมในการสร้างเครือข่ายสนับสนุนและส่งเสริมการฝึกอบรมในสถานประกอบการในประเทศสมาชิกอาเซียน”

เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนในภูมิภาค โครงการ RECOTVET จะทำการเผยแพร่แนวทางการจัดการฝึกอบรมสำหรับวิทยากร“Regional Guidelines for Master Trainers” สำหรับหน่วยงานหรือบุคลากรที่สนใจ ซึ่งรวบรวมแนวทางปฏิบัติที่ดีและครอบคลุมแง่มุมต่าง ๆ เช่น คุณสมบัติและบทบาทหน้าที่ของวิทยากร ตัวอย่างแผนและเกณฑ์การประเมินการฝึกอบรม รวมถึงเอกสารที่มีประโยชน์อื่น ๆ ภายในปีนี้
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการฝึกอบรมในระดับภูมิภาคสำหรับวิทยากร บนแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ SEA-VET Learning เป็นภาษาอังกฤษได้ที่ลิงก์นี้
ปุษราภา ทองจำรูญ
เจ้าหน้าที่โครงการ RECOTVET
อีเมล:phoossarapha.thongjumrool(at)giz.de