เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา รัฐมนตรีสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านการพัฒนาสุขภาพจาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน ครั้งที่ 15 (AHMM) เพื่อตอกย้ำความร่วมมือด้านสาธารณสุขในระดับภูมิภาคพร้อมหารือแนวทางอนาคตด้านสาธารณสุขในอาเซียน โดยระหว่างการประชุมดังกล่าว ที่ประชุมได้รับรองข้อกำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและการตอบสนองภายในภูมิภาคสองฉบับ ภายใต้การนำของประธานการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านการพัฒนาสุขภาพ (SOMHD) กระทรวงสาธารณสุขของอินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นความร่วมมือระดับภูมิภาคอาเซียนในการเตรียมความพร้อมและตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข
ข้อกำหนดแนวทางปฏิบัติฯ นี้ได้รับการสนับสนุนในการจัดทำขึ้นโดยโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งสำหรับการตอบโต้ต่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน
ข้อกำหนดแนวทางปฏิบัติทั้งสองฉบับ ได้แก่ แนวทางปฏิบัติเพื่อติดตามผู้สัมผัสข้ามพรมแดนและการสอบสวนการระบาดของโรค (ASEAN Protocol of Cross-Border Contact Tracing and Rapid Outbreak Investigation) และแนวทางปฏิบัติด้านสุขอนามัยของอาเซียนเพื่อป้องกันโรคระบาดในที่สาธารณะ (ASEAN Health Protocol for Pandemic Preventive Measures in Public Places) แนวทางปฏิบัติเพื่อติดตามผู้สัมผัสข้ามพรมแดนและการสอบสวนการระบาดของโรค มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกลไกการสื่อสารด้วยข้อมูลคุณภาพอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางข้ามประเทศในภูมิภาคเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และโรคติดต่อที่คล้ายคลึงกันในอนาคต ส่วนแนวทางปฏิบัติด้านสุขอนามัยของอาเซียนเพื่อป้องกันโรคระบาดในที่สาธารณะมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางในการเปิดประเทศอย่างปลอดภัยแบบบูรณาการและครอบคลุมในภูมิภาคอาเซียน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในพื้นที่สาธารณะตามกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน (ASEAN Comprehensive Recovery Framework)
ในแถลงการณ์ของการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือด้านสาธารณสุขในภูมิภาค “ภูมิภาคอาเซียนเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก ดังนั้นการสร้างระบบสุขภาพของอาเซียนให้มีความยืดหยุ่นรวมถึงแนวทางปฏิบัติด้านสาธารณสุขระดับภูมิภาค … จะช่วยเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขที่มีความเข้มแข็งระดับสากล” – แถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน ครั้งที่ 15 สามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับแถลงการณ์ร่วมฉบับเต็มได้ที่นี่
สำนักงานเลขาธิการอาเซียนตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศในการรับมือกับวิกฤติการณ์ทางสุขภาพ รวมถึงการมีส่วนร่วมของภาคีเพื่อการพัฒนา ตลอดจนเพื่อเสริมสร้างการตอบสนองและเตรียมความพร้อมในอนาคต
โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งสำหรับการตอบโต้ต่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนเพื่อตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในภูมิภาคอาเซียน ของกระทรวงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธรัฐเยอรมนี (BMZ) ซึ่งดำเนินงานโดย GIZ ร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน และแผนกสาธารณสุข สำนักงานเลขาธิการอาเซียน