กรุงเทพฯ / 8 กันยายน 2565 – กองสุขภาพแห่งสำนักงานเลขาธิการอาเซียน และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ร่วมเป็นเจ้าภาพการประชุมหารือระดับภูมิภาค ในหัวข้อ“การสร้างความเข้มแข็งของงานในระดับภูมิภาคของอาเซียน ด้านการตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด-19 และสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุข” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานและความสำเร็จของโครงการ “เสริมสร้างความเข้มแข็งสำหรับการตอบโต้ต่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน” และเพื่อหารือเกี่ยวกับข้อเสนอแนะและแนวทางในการดำเนินงานต่อไปในอนาคตซึ่งจะช่วยสนับสนุนการดำเนินนโยบายและกลยุทธในด้านการเตรียมความพร้อม การรับมือ และการฟื้นฟูในภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขอื่น ๆ นอกเหนือจากสถานการณ์โควิด-19 ในอาเซียน โดยมีผู้ประสานงานกลุ่มประเด็นสุขภาพอาเซียนที่ 2 ผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย ผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่โครงการจาก GIZ เข้าร่วมประชุม
คุณฮานส์ อูลริช ซูดเบค อุปทูตและหัวหน้าแผนกเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย กล่าวว่า “เราทราบดีว่าการระบาดของเชื้อโควิด-19 นั้นทำให้เกิดความท้าทายใหม่ๆ บนโลกใบนี้รวมทั้งอาเซียนและประเทศเยอรมนีด้วย ทำให้เราตระหนักถึงความจำเป็นในการเร่งฟื้นฟูและสร้างความเข้มแข็งในการกลับสู่สภาพเดิมหลังการระบาดผ่านความร่วมมือ โดยประเทศเยอรมนีได้สนับสนุนความช่วยเหลือให้แก่กองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 จำนวน 5 ล้านยูโร และสนับสนุนงบประมาณจำนวน 8 แสนยูโร ผ่าน โครงการ “เสริมสร้างความเข้มแข็งสำหรับการตอบโต้ต่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน” เราได้เรียนรู้จากสถานการณ์ระบาดในช่วงสองปีที่ผ่านมาว่า โควิด-19 ไม่ได้หยุดอยู่แค่ชายแดนประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ทำให้เห็นว่าพวกเราต่างก็ต้องพึ่งพากันและกัน ดังนั้นเราจึงต้องมุ่งเน้นไปที่ความร่วมมือระหว่างประเทศและแบบพหุภาคีเพื่อแก้ปัญหาโรคระบาดและผลกระทบที่มีต่อความเป็นอยู่ของประชากรหลายล้านคนบนโลก ดังนั้นเราจึงยินดีและภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่การสนับสนุนของเราได้ช่วยให้อาเซียนและประเทศสมาชิกมีศักยภาพในการรับมือกับโควิด-19 มากขึ้น รวมทั้งได้ต่อยอดความร่วมมือกับอาเซียนและสร้างความเข้มแข็งให้แก่งานในระดับภูมิภาคของอาเซียนด้านสาธารณสุขฉุกเฉินอื่น ๆ นอกเหนือจากโควิด-19”
นายเอกภาพ พันธะวงศ์ รองเลขาธิการอาเซียนฝ่ายประชาคมสังคมและวัฒนธรรม กล่าวว่า “กระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) ได้สนับสนุนกลไกที่มีอยู่แล้วของงานด้านสาธารณสุขของอาเซียน เพื่อขยายขอบเขตและยกระดับงานในระดับภูมิภาคเพื่อรับมือ และฟื้นฟูจากผลกระทบของโควิด-19 ผ่านการดำเนินงานขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) โดยเริ่มจากการสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียนซึ่งมีความต้องการเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับการยืนยันจำนวนผู้ติดเชื้อ และจำนวนผู้เสียชีวิตที่สูงขึ้น อีกทั้งให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศอินโดนีเซียในฐานะผู้นำในการพัฒนาข้อกำหนดแนวทางปฏิบัติระดับภูมิภาค 2 ฉบับ ได้แก่ แนวทางปฏิบัติด้านสุขอนามัยของอาเซียนเพื่อป้องกันโรคระบาดในที่สาธารณะ (ASEAN Health Protocol for Pandemic Preventive Measures in Public Places) และแนวทางปฏิบัติเพื่อติดตามผู้สัมผัสข้ามพรมแดนและการสอบสวนการระบาดของโรค (ASEAN Protocol of Cross-Border Contact Tracing and Rapid Outbreak Investigation) ซึ่งรัฐมนตรีสาธารณสุขด้านการพัฒนาสุขภาพจาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้ให้การรับรองแนวทางปฏิบัติทั้ง 2 ฉบับ ในการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน ครั้งที่ 15 เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ ผลของการประเมินความต้องการด้านการเสริมสร้างศักยภาพในการตอบสนองต่อการระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขอื่น ๆ ซึ่งนำเสนอโดยประเทศไทย ก็ได้นำไปพัฒนาและออกแบบโครงการใหม่ ทำให้การดำเนินงานด้านสาธารณสุขฉุกเฉิน และการร่วมมือระหว่าง GIZ กับงานด้านสาธารณสุขในอาเซียนนั้นเกิดประโยชน์สูงสุด”
ดร.เสาวพักตร์ ฮิ้นจ้อย ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค ผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเน้นว่า “เราได้ประจักษ์แล้วว่าโลกของเรายังอ่อนแอและไม่ได้เตรียมพร้อมสำหรับการระบาดครั้งใหญ่ อีกทั้งไม่ได้ตระหนักถึงความบกพร่องของประสิทธิภาพและศักยภาพในการต่อสู้กับโรคระบาด ดังที่เราได้ทราบแล้วว่าไม่ใช่งานที่ง่าย ภัยทางด้านสาธารณสุขเช่นนี้ทำให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อความมั่นคงทางสุขภาพและระบบเศรษฐกิจสังคมของโลก ประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ได้รับการสนับสนุนจาก GIZ ในการดำเนินโครงการ “การประเมินความต้องการด้านศักยภาพในการตอบสนองต่อการระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขอื่น ๆ” โครงการนี้เปิดโอกาสให้เราได้สำรวจและเสนอแนะศักยภาพหลักที่จำเป็นต้องเสริมความแข็งแกร่งเพื่อตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นี่คือตัวอย่างโครงการอันทรงคุณค่าที่เราได้พูดคุยและหารือกันในการประชุมสองวันนี้”
สามารถติดตามข่าวสารและรายละเอียดเพิ่มเติมของโครงการได้ที่ https://www.thai-german-cooperation.info/strengthening-regional-initiatives-in-asean-on-covid-19-response-and-other-public-health-emergencies