ตัวแทนครูต้นแบบ 23 ท่านจากสถาบันการอาชีวศึกษาจาก 9 ประเทศสมาชิกอาเซียน และติมอร์ ตะวันออก พร้อมเดินหน้าสร้างโครงการที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาครูฝึกแรงงานที่มีทักษะสู่อุตสาหกรรม 4.0 และเทคโนโลยีดิจิทัล
การอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมนับเป็นเครื่องมือที่ช่วยปิดช่องว่างและลดอัตราการว่างงานของเยาวชน ครูอาชีวศึกษาต้นแบบจึงเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเพิ่มจำนวนแรงงานที่มีทักษะที่เป็นที่ต้องการของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเทคโนโลยีการผลิตและเครื่องจักรอัตโนมัติ
การอบรมครูต้นแบบระดับภูมิภาคครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ “Innovative Teaching and Learning for Industrial Changes due to Industry 4.0” ได้เสร็จสิ้นลงเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา โดยเนื้อหาการอบรมเน้นไปที่ส่วนประกอบสำคัญของอุตสาหกรรม 4.0 และหลักการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ เช่น การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน การเรียนการสอนแบบมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยกระบวนการการเรียนรู้แบบใหม่นี้จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถหาความรู้ คิดและปฏิบัติด้วยตนเองโดยมีครูและสื่อการสอนต่างๆ เป็นเพียงผู้ให้แนวทางเท่านั้น ทั้งนี้เมื่อการอบรมฯ สิ้นสุดลง ครูต้นแบบจะสามารถนำทักษะความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับระบบการเรียนการสอนด้านอาชีวศึกษาในประเทศของตนต่อไป
การอบรมครั้งนี้จัดขึ้นเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ ซึ่งนอกจากผู้เรียนจะได้รับความรู้ภายในห้องเรียนแล้ว ยังมีโอกาสเข้าเยี่ยมชมบริษัทกมลแมชชีนแฟคทอรี จำกัด และบริษัทเดนโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับความร่วมมือของภาคอุตสาหกรรมและสมรรถนะที่จำเป็นต่อตลาดแรงงานในอนาคต และได้เพิ่มทักษะความรู้เชิงวิชาการที่สถาบันไทย – เยอรมัน จังหวัดชลบุรีในเรื่องการนำโรงงานอัจฉริยะและกระบวนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในบริษัทและสถานฝึกอบรมไปประยุกต์ใช้
พิธีปิดการอบรมที่จัดขึ้นในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ได้รับเกียรติจากนายประเสริฐ ทีปะนาถ รองผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ (ฝ่ายบริหารและสื่อสาร) และดร. อธิปไตย โพแตง ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลและนักทรัพยากรบุคคลชำนาญการพิเศษระดับอาวุโส สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา พร้อมทั้งผู้ฝึกอบรม 2 ท่านได้แก่ ดร. Paryono รองผู้อำนวยการด้าน Professional Affairs และผู้จัดการและผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัย ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยการอาชีวศึกษาของซีมีโอ และศาสตราจารย์ ดร. Georg Spoettl ผู้เชี่ยวชาญจากเยอรมัน เป็นประธานในพิธี
นายเพิ่มศักดิ์ สุขศิริ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายกระบวนการกระบวนการอัตโนมัติ เครื่องจักรอัตโนมัติ และศูนย์หุ่นยนต์อุตสาหกรรม จากสถาบันไทย – เยอรมัน กล่าวว่า “การเข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้ทำให้ผมได้ความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ พวกเราได้เรียนรู้จากภาคอุตสาหกรรมและสามารถนำมาปรับใช้ในการออกแบบหลักสูตรการฝึกอบรมและการออกแบบวิธีการถ่ายทอดความรู้เพื่อนำไปพัฒนาครูอาชีวศึกษาในประเทศไทย และในโครงการที่ผมทำร่วมกับทางรัฐบาล ในฐานะครูต้นแบบ ได้มีการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรม 4.0 ในทุกระดับให้แก่ครูอาชีวศึกษาให้มีความเข้าใจในหัวข้อนี้มากยิ่งขึ้น ซึ่งนับได้ว่าเป็นการผลิตบุคลากรและช่างผู้เชี่ยวชาญที่ตรงต่อความต้องการของตลาดแรงงาน รวมทั้งช่วยพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในภาครวมอีกด้วย”
นาย Michael Edinone Gayona ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสจากสถาบัน TESDA ประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวว่า “หลังจากการอรบมครูต้นแบบระดับภูมิภาคนี้ จะมีการนำแผนงานครูต้นแบบที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนแบบใหม่ การประกันคุณภาพและการพัฒนาคุณภาพอาชีวศึกษาฯ ไปอบรมให้กับบุคลากรอาชีวศึกษาในสถาบัน โดยแผนงานนี้ จะช่วยเพิ่มพูนสมรรถะนะของครูอาชีวศึกษาฯ และผู้จัดการสถานศึกษาให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม”
หลังจากการอบรมครูต้นแบบระดับภูมิภาค ครั้งที่ 1 ผู้เข้าอบรมได้เข้าร่วมการอบรมครั้งที่ 2 ด้านการพัฒนาทางอาชีพสำหรับครูอาชีวศึกษาฯ ในวันที่ 19 – 27 กันยายน พ.ศ. 2562 ที่สถาบันเยอรมัน – มาเลเซีย ที่ประเทศมาเลเซีย
นอกจากนี้ ยังมีการฝึกอบรมครูต้นแบบที่จะจัดขึ้นอีก 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการออกแบบหลักสูตรให้สอดคล้องกับกระบวนการทำงานในอุตสาหกรรม 4.0 ด้านการประกันคุณภาพในสถาบันอาชีวศึกษาในเดือนตุลาคม และด้านความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน
ในประเทศไทย สํานักงานพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษาเป็นผู้สนับสนุนการจัดการฝึกอบรมครูต้นแบบระดับประเทศให้แก่ครูอาชีวศึกษาจำนวน 60 ท่าน โดยแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มครูอาชีวศึกษาทั่วไป ระหว่างวันที่ 12 – 14 กันยายน พ.ศ. 2562 โดยเน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับส่วนประกอบสำคัญของอุตสาหกรรม 4.0 และกลุ่มครูผู้เชี่ยวชาญ ระหว่างวันที่ 16 – 18 กันยายน พ.ศ. 2562 ซึ่งเน้นเนื้อหาที่เข้มข้นขึ้นในเรื่องของอุตสาหกรรม 4.0 และโรงงานอัจฉริยะ