เมื่อวันที่ 11-12 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา โครงการความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อส่งเสริมคุณภาพของการอาชีวศึกษาที่มุ่งเน้นความต้องการของตลาดแรงงาน (RECOTVET) ร่วมกับศูนย์ฝึกอบรมระดับภูมิภาคว่าด้วยการศึกษาด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา (SEAMEO VOCTECH) จัดการประชุมมาตรฐานครูอาชีวศึกษาระดับภูมิภาคครั้งที่ 8 ที่ประเทศไทย การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้ร่วมกันพัฒนามาตรฐานครูอาชีวศึกษาในระดับภูมิภาคและยกระดับขีดความสามารถของครูอาชีวศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นพลวัตในยุคปัจจุบัน เช่น ทักษะที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ การเรียนรู้ตลอดชีพ ทักษะเพื่อความยั่งยืน (Green skills) และกลุ่มสาขาอาชีพ เพื่อผลิตครูอาชีวศึกษาที่ได้มาตรฐานระดับสูง
ตัวแทนจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาและบุคลากรจากหน่วยงานด้านมาตรฐานการศึกษาภายใต้กระทรวงศึกษาธิการจาก 6 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์และประเทศไทยจำนวนทั้งหมด 19 ท่านได้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว เพื่อร่วมกันปรับและพัฒนามาตรฐานครูอาชีวศึกษาในระดับภูมิภาค
ในการประชุม ตัวแทนจากแต่ละประเทศได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและร่วมกันถกประเด็นเรื่องมาตรฐานที่ได้รับการปรับแก้และพัฒนาจากการประชุมครั้งที่ 7 เมื่อปีพ.ศ. 2561 โดยผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานครูอาชีวศึกษาจากประเทศเยอรมนีสองท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ มาทีอัส เบคเกอร์ จากสถาบัน Institut für Berufswissenschaften der Metalltechnik Leibniz มหาวิทยาลัย Hannover และ ศาสตราจารย์ จอร์จ สปอทัล จากมหาวิทยาลัย Bremen ซึ่งเป็นผู้เขียนร่างมาตรฐานฉบับปรับปรุงดังกล่าว มาร่วมอภิปรายและแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้เข้าร่วมประชุม ในการประชุมทั้ง 2 วัน ผู้เข้าร่วมประชุมได้แสดงความเห็นต่อมาตรฐานฉบับปรับปรุงทั้งจากการทำงานกลุ่มย่อยและการอภิปรายร่วมกัน ผลจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นตลอดการประชุมนี้ได้ยกระดับคุณภาพจากฉบับปรับปรุงครั้งที่สองไปสู่ฉบับสมบูรณ์ในที่สุด
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังได้นำเสนอเครื่องมือการประเมินเพื่อใช้ติดตามผลการปฏิบัติงานของครูอาชีวศึกษา รวมถึงการนำเสนอแนวคิดและความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มสาขาอาชีพและการศึกษาเพื่อผลิตครูอาชีวศึกษา เพื่อเป็นตัวอย่างให้แต่ละประเทศได้นำไปพัฒนามาตรฐานแห่งชาติของตน โดยจะมีการนำข้อแนะนำดังกล่าวไปจัดรวมเป็นภาคผนวกของมาตรฐานครูอาชีวศึกษาฉบับสมบูรณ์
ภายหลังจากการนำเสนอแนวคิดของผู้เชี่ยวชาญ ผู้เข้าร่วมประชุมได้มีมติให้มาตรฐานครูอาชีวศึกษาระดับภูมิภาคเป็นแนวทางที่แต่ละประเทศสามารถนำไปปรับใช้ได้ตามความสมัครใจ ขีดความสามารถของครูอาชีวศึกษาที่ระบุไว้ในมาตรฐานฉบับแก้ไขครั้งที่สองจะเป็นแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถสร้างแผนดำเนินงานและหลักสูตรการศึกษาเพื่อผลิตครูอาชีวะที่ได้มาตรฐาน ทั้งนี้ในช่วงท้ายของการประชุม แต่ละประเทศได้มีโอกาสร่างแผนงานแห่งชาติของตนและส่งให้โครงการ RECOTVET สำหรับดำเนินการต่อไป
นับตั้งแต่การประชุมครั้งที่ 7 ประเทศบรูไนดาลุสซาลาม และประเทศมาเลเซียได้นำมาตรฐานครูอาชีวะระดับภูมิภาคมาปรับใช้ในระดับชาติแล้ว อีกทั้งยังได้ร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องในการระบุเนื้อหาของมาตรฐาน ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการของบรูไนดาลุสซาลามได้รับรองมาตรฐานครูอาชีวศึกษาประเทศบรูไนดาลุสซาลาม (BTTS) แล้ว ซึ่งถือได้ว่าเป็นแบบอย่างที่ดีของภูมิภาค