“สิ่งแรกที่เราต้องทำ คือ การพัฒนาการศึกษาให้ประชาชนของเรา” ดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียกล่าว เมื่อถูกตั้งคำถามว่าอาเซียนควรเตรียมตัวอย่างไรสำหรับการเข้าสู่อุตสาหกรรมยุค 4.0 ในการประชุมสุดยอดผู้นำธุรกิจและการลงทุนอาเซียน (ABIS) 2019 ภายใต้หัวข้อ “การเสริมพลังอาเซียน 4.0” เมื่อวันที่ 2-3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา
การประชุม ABIS 2019 จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับประเทศสมาชิกอาเซียนในเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม นายอรินทร์ จิรา ประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน กล่าวว่า “ผมเชื่อว่าผลกระทบและความสำคัญของอุตสาหกรรม 4.0 เป็นเรื่องที่ทราบกันดีอยู่แล้ว เนื่องจากเราทุกคนล้วนเผชิญกับผลกระทบที่เกิดขึ้น ผมมักพูดอยู่เสมอว่าเราสามารถเลือกได้ว่าเราจะสู้หรือยอมแพ้ให้กับการเข้ามาของอุตสาหกรรม 4.0”
“แต่ความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและภาคเอกชน จะเป็นกำลังสำคัญในการรับมือกับอุตสาหกรรม 4.0 ที่มีการพัฒนาของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ” นายอรินทร์ เน้นย้ำ
นายอิงโก อิมฮอฟ ผู้อำนวยการโครงการความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อส่งเสริมคุณภาพของการอาชีวศึกษาที่มุ่งเน้นความต้องการของตลาดแรงงาน (RECOTVET) ของ GIZ ซึ่งเข้าร่วมการประชุมฯ กล่าวว่า “ประเทศสมาชิกอาเซียนประสบปัญหาเรื่องการพัฒนาทักษะและการยกระดับทักษะของแรงงาน ซึ่งขณะนี้ในภูมิภาคอาเซียนขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะจำนวนมาก เนื่องจากทักษะแรงงานไม่สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชนและความต้องการของอุตสาหกรรม 4.0 ดังนั้นเราจึงต้องพัฒนาการฝึกอบรมโดยเน้นไปที่การเพิ่มพูนทักษะ และการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา”
“การฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษา มีบทบาทสำคัญในการปรับตัวเพื่อรองรับอุตสาหกรรม 4.0”
“ระบบการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษา และระบบการบริหารจัดการของหน่วยงานหลายๆ หน่วยงานในอาเซียน ยังคงไม่พร้อมที่จะรับมือกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต แต่อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนในอาเซียนควรร่วมมือกันพัฒนาระบบการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษาที่มีอยู่ให้ดีขึ้นต่อไป” นายอิงโก กล่าวเพิ่มเติม
นอกจากนี้ นายอิงโก ยังได้สรุปการอภิปรายว่า ภาคเอกชนสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพระบบอาชีวศึกษาได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพัฒนาการเรียนรู้จากการทำงาน หรือการให้คำปรึกษาด้านหลักสูตรแก่วิทยาลัยอาชีวะ ในปีที่ผ่านมา GIZ ได้สนับสนุนสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในภาคเอกชน เช่น การจัดสัมมนาเรื่องผลกระทบต่อการพัฒนาทักษะของอุตสาหกรรม 4.0 การจัดทำรางวัลการพัฒนาทักษะอาเซียน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานรางวัล ASEAN Business Award 2019 หรือ ABA 2019 และการจัดทำรายงานข้อเสนอแนะระบบอาชีวศึกษาอาเซียนในอนาคต ซึ่งมีข้อเสนอแนะทั้งหมด 45 ข้อ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือของภาคเอกชนในการพัฒนาระบบอาชีวศึกษา
โครงการ RECOTVET ยังคงมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อเตรียมความพร้อมของอาเซียนในการรับมือกับอุตสาหกรรม 4.0 โดยจะมุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเป็นหลัก นอกจากนี้ โครงการฯ และสำนักเลขาธิการอาเซียน พร้อมที่จะสนับสนุนรัฐบาลเวียดนามในช่วงระหว่างการเป็นประธานอาเซียนในปี พ.ศ. 2563 ในการจัดทำปฏิญญาอาเซียน เพื่อเป็นแนวทางการฝึกอบรมพัฒนาทรัพยากรบุคคลของอาเซียน ซึ่งได้มีการจัดประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การทำปฏิญญานี้ไปแล้วเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ที่ประเทศเวียดนาม โดยการสนับสนุนของโครงการฯ และการประชุมครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 นี้