ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืนได้เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตอาหาร-เกษตรก่อนจะสายเกินไป โดยผู้เชี่ยวชาญต่างย้ำในทิศทางเดียวกันถึงการจัดทำนโยบาย ความเห็นพ้องจากภาคเอกชน ความตระหนักของผู้บริโภค และการเริ่มสร้างวิถีของเกษตรกร ระหว่างการเข้าร่วม ‘ประชุมภาคีความร่วมมือของโครงการระบบอาหาร-เกษตรแบบยั่งยืนแห่งอาเซียน ครั้งที่ 6’ ณ. นครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อเร็วๆนี้
โดยการจัดทำนโยบายนั้นต้องอิงกับสถานะการณ์ที่ดำเนินอยู่และเกิดขึ้นจริงและต้องนำไปปฏิบัติใช้อย่างจริงจัง คุณ เจอรัลด์ แคมมาเก นักวิจัยวิทยาศาสตร์ชำนาญการ แผนกเกษตรอินทรีย์ จากประเทศฟิลิปปินส์ ให้ความเห็นถึงปัญหาในปัจจุบันที่เกิดขึ้น คือการที่มนุษย์ไม่ตระหนักในการตอบแทนคุณค่าของดิน ใช้พื้นที่เพาะปลูกโดยไม่เว้นช่วงให้ดินพัก ไม่ฟื้นฟู หรือบำรุงดิน และมีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีในปริมาณสูง ซึ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความหายนะแก่ธรรมชาติ คุณ เจอรัลด์ กล่าวว่าภาครัฐต้องศึกษาและเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างถ่องแท้ และเมื่อนั้นภาครัฐจะสามารถจัดทำนโยบายที่ดี ที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและประชาชนทุกคนได้อย่างแท้จริง
บรรดาผู้เชี่ยวชาญยังได้แสดงความคิดเห็นว่าการทำเกษตรแบบรับผิดชอบนั้นเป็นเพียงหนทางเดียวที่จะนำไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน คือ เกษตรกรทุกคนจะต้องมองถึงความยั่งยืนทางเกษตรในอนาคต และคนในทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตระหนักและเปลี่ยนทัศนคติและวิธีปฏิบัติให้สอดคล้องเพื่อความยั่งยืนนั้น
คุณ อิสเมล ไอเบอราฮิม ผู้ช่วยผู้อำนวยการ แผนกความปลอดภัยทางชีวภาพด้านพืช จากกรมวิชาการเกษตร ประเทศมาเลเซีย กล่าวถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดในการผลิตอาหาร-เกษตรว่าไม่ใช่ปริมาณที่สามารถผลิตได้ แต่คือความปลอดภัยของผู้บริโภคทุกคนที่บริโภคอาหารนั้นๆ จะเห็นได้ว่าเกษตรกรในประเทศที่พัฒนาแล้วจะมุ่งเน้นการผลิตอาหารแบบปลอดภัยและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และลดการใช้สารเคมีแต่ในทางกลับกัน เกษตรกรในประเทศที่กำลังพัฒนากลับมุ่งเน้นที่ปริมาณผลผลิตเป็นหลัก เน้นถึงการให้ผลเร็ว และผลผลิตที่ดูสวยงามไม่มีตำหนิรอยหนอนเจาะ โดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คุณ อิสเมลกล่าวถึงความหวังที่จะได้เห็นเกษตรกรในประเทศที่กำลังพัฒนาเปลี่ยนทัศนคติและวิธีปฏิบัติเพื่อทำการเกษตรแบบยั่งยืนสักวันหนึ่ง
ส่วนคุณ นอร์ อัศศริ บิล ฮาจิ โมฮัมเหม็ด นอร์ หัวหน้าหน่วยอารักขาพืช จากกรมวิชาการเกษตรและพืชอาหาร ประเทศบรูไน แสดงความคิดเห็นที่คล้ายคลึงกันว่าการทำเกษตรทุกวันนี้มุ่งเน้นที่ปริมาณผลผลิต ทำอย่างไรให้ได้ผลผลิตมาก โดยไม่คำนึงถึงทรัพยากรธรรมชาติที่มนุษย์ได้ใช้ไป และหากมนุษย์ไม่ใส่ใจระบบนิเวศน์ ยังทำลายดินและสิ่งแวดล้อมให้ทรุดโทรมอย่างต่อเนื่อง อนาคตมนุษย์จะเพาะปลูกพืชได้อย่างไร คุณ นอร์ กล่าวว่า สิ่งที่อยากจะให้เกิดขึ้น คือเกษตรกรและภาคเอกชนเห็นพ้องต้องกันว่าการทำเกษตรแบบยั่งยืนเป็นแนวทางที่ต้องก้าวเดินไปเพื่อให้ได้ผลผลิตแบบไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
ดร. ไซยอิฟูล อันวาห์ รองคณบดีภาควิชาเกษตร จากประเทศอินโดนีเซียกล่าวว่า มนุษย์ควรเรียนรู้จากข้อผิดพลาด และดูแลรักษาโลกให้ดีขึ้น มนุษย์ต้องตระหนักถึงผลกระทบจากการใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมแบบไม่ถูกทาง ในการผลิตอาหาร เราจำเป็นต้องผลิตอาหารให้เพียงพอ จึงอาศัยเทคโนโลยีเพื่อมุ่งผลิตอาหารให้ได้มาก ใช้ปุ๋ยและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และนำเครื่องจักรที่ใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลในการทำการเกษตร ซึ่งเหล่านี้ คือสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และในฐานะที่เราเป็นมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในโลกใบนี้ เราต้องดูแลโลกใบนี้ ไม่เช่นนั้นก็จะไม่มีโลกให้เราได้อยู่
เมื่อเร็วๆนี้ ผู้บริหาร และผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ จำนวนกว่า 70 คน ได้พบกันที่นครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐ ประชาชนลาว ระหว่างวันที่ 17-20 พฤศจิกายน 2558 เพื่อเข้าร่วมใน ‘การประชุมภาคีความร่วมมือของโครงการระบบอาหาร-เกษตรแบบยั่งยืนแห่งอาเซียน ครั้งที่ 6’ ในการแลกเปลี่ยนสรุปผลการทำงานของโครงการในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา และวางแผนร่วมกันสำหรับอีก 2 ปีที่จะก้าวต่อไป ในการประชุมนี้ได้มีการพูดคุยในประเด็นท้าทายและปัญหาที่เกิดขึ้นในด้านความมั่นคงทางอาหาร ตลอดรวมไปถึงด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อปรับเตรียมกลยุทธ์ในการทำงานของโครงการต่อไปในอนาคต
โดย ดร. แมธเธียส บิกเคล ผู้อำนวยการโครงการฯ เน้นในที่ประชุมภาคีความร่วมมือครั้งนี้ว่าในการส่งเสริมระบบอาหาร-เกษตรแบบยั่งยืนแห่งอาเซียนให้เกิดความสำเร็จนั้น ต้องมีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดของหน่วยงานทุกภาคส่วนที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต ทั้งส่วนของภาครัฐ เกษตรกร ชุมชน ผู้บริโภค และภาคเอกชน โดยการประชุมครั้งนี้กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและป่าไม้แห่งสาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวร่วมเป็นเจ้าภาพ โครงการฯ ดำเนินการภายใต้กรอบหลัก 3 ด้านคือ ด้านนโยบาย เทคโนโลยีการผลิต และการเชื่อมโยงตลาด เพื่อกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือระดับภูมิภาคในการส่งเสริมการผลิตอาหารอย่างยั่งยืนในระดับประเทศ โดยมุ่งหวังให้เกิดการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดผลในวงกว้าง
เรื่องและภาพโดย รจนา มโนวลัยเลา โครงการระบบอาหาร-เกษตรแบบยั่งยืนแห่งอาเซียน