โลกใบนี้ยังสวยงาม…แม้ว่าประชากรที่อยู่ในโลกใบนี้ ขณะนี้มีถึง 7.5 พันล้านคน และอีก 30 ปีข้างหน้า จะเพิ่มเป็นทั้งหมด 9 พันล้านคน เฉพาะในทวีปเอเซีย มีคนอยู่อาศัย 4.5 พันล้านคน
โลกใบนี้ยังสวยงาม…แม้ว่าขณะนี้ จะมีคนที่อดอยาก 1 คน ในจำนวนทุก 9 คน และมีเด็กจำนวน 3 ล้านคนที่ต้องเสียชีวิตจากการอดอยากทุกปี ทั้งที่อุตสาหกรรมการผลิตอาหาร ผลิตอาหารมากกว่าจำนวนคนทั้งหมดในโลก 1.5 เท่า โดยคนที่อดอยากกว่าครึ่ง อาศัยอยู่ในทวีปเอเซีย
โลกใบนี้ยังสวยงาม…แม้ว่าขณะนี้ 1ใน 3 ของอาหารที่ถูกผลิตเพื่อการบริโภคของมนุษย์ ถูกทิ้ง และสูญเสียจากกระบวนการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูป ซึ่งหมายความว่าทั้งทรัพยากรดิน น้ำ พลังงาน รวมทั้งแรงงาน และเงิน ถูกทำให้สูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ ถึง 1 ใน 3 เฉพาะในทวีปเอเซีย มีการสูญเสียจากกระบวนการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปถึงร้อยละ 40
แต่โลกนี้ก็ยังสวยงาม…เพียงทุกภาคส่วน และทุกคนต้องร่วมมือในการสร้างระบบอาหาร-เกษตรแบบยั่งยืน
คุณวิลมา ควาเตอร์โน หัวหน้ากองบริหารศัตรูพืช กรมวิชาการเกษตร ฟิลิปปินส์
“ทุกคนต้องเข้าใจว่าทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศวิทยาที่มีอยู่นี้ ไม่ใช่ของเรา แต่เป็นของคนยุคต่อๆ ไปที่เราต้องร่วมกันรักษา เพื่อให้คนรุ่นต่อไปได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ ถ้าเราเห็นแก่ตัว คนรุ่นต่อไปก็จะอยู่ยาก”
คุณเอสเตรลล่า เพนูเนีย เลขาธิการ สมาคมเกษตรกรเอเชียเพื่อการพัฒนาชนบทอย่างยั่งยืน ฟิลิปปินส์
“ผู้บริหารประเทศต้องมีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยน และกำหนดนโยบายเพื่อมุ่งไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น รวมทั้งต้องหาวิธีให้เกษตรกรกลับมาเข้มแข็ง โดยผ่านทางองค์กร สมาคม หรือสหกรณ์ที่มีเกษตรกรเป็นผู้ร่วมบริหาร เพื่อให้เกิดการพัฒนาและประโยชน์สูงสุดต่อตัวเกษตรกรเอง เพราะคนที่สำคัญที่สุดในการทำการเกษตร คือเกษตรกร เพราะเกษตรกรเป็นคนปลูก ไม่ใช่รัฐบาล ไม่ใช่รัฐมนตรี ไม่ใช่บริษัทเอกชน แต่เป็นเกษตรกร”
ดร. จอร์จ คอท์ช หัวหน้ากองการปรับปรุงพันธุ์พืช สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ
“ในระบบอาหาร-เกษตร หรือห่วงโซ่อาหาร-เกษตร จะมีเฉพาะบางภาคส่วน หรือบางห่วงโซ่เท่านั้นที่มีความเข้มแข็ง จึงจำเป็นที่ต้องถอยออกมาแล้วมองให้เห็นภาพในภาพรวม และทำการเชื่อมโยงและบริหารจัดการระบบและห่วงโซ่ทั้งภาพรวม ไม่ใช่มุ่งจัดการแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นส่วนๆ แบบต่างคนต่างทำ ซึ่งจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้น้อยมาก และไม่ใช่แค่ต้องร่วมมือกันในเฉพาะระดับชุมชน หรือระดับประเทศเท่านั้น แต่ต้องเป็นการทำงานร่วมกันในระดับภูมิภาค เพื่อให้เกิดพลังในการเปลี่ยนแปลงที่มากขึ้นและในวงกว้างขึ้น”
ดร. มัก เซิน รองอธิบดี กรมวิชาการเกษตร กัมพูชา
“การกำหนดนโยบายควรดึงทุกภาคส่วนให้เข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วม และทุกฝ่ายต้องไม่ได้เปรียบ หรือเสียเปรียบซึ่งกันและกัน ดังนั้นการทำความเข้าใจและร่วมมือกันทำงานจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งการจัดประชุมหารือเชิงนโยบาย ที่มีการวางแผนและจัดการดีๆ ก็ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่คุ้มค่า เพราะถ้าทำได้ประเทศก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น ประชากรก็จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น มีอาหารการกินที่ปลอดภัยและมีคุณภาพขึ้น มีสุขภาพที่ดี มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นผ่านการจัดทำระบบอาหาร-เกษตรแบบยั่งยืน ผมก็อยากเห็นประเทศพัฒนา”
คุณซาทิช แทมปี้ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอแลม ประเทศไทย จำกัด (ด้านซ้าย)
“หลายคนมองว่าการจะทำให้เกิดความยั่งยืนนั้น ทุกคนต้องจ่ายแพงขึ้น เพื่อให้ได้สินค้าที่ผลิตจากระบบที่ยั่งยืน แต่ถ้าเรามองว่าเราต้องทำทุกอย่างให้เกิดความยั่งยืน ความยั่งยืน เป็นเรื่องปกติ ธรรมดา และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และเราไม่จำเป็นต้องจ่ายแพงขึ้น แต่หาวิธีลดต้นทุนในระบบการผลิตที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนนั้น เราก็จะได้สินค้าที่ดี จากระบบที่ยั่งยืน ในราคาสินค้าทั่วๆ ไป”
เพราะโลกใบนี้ยังสวยงาม…
ชมวีดีทัศน์สัมภาษณ์ตัวแทนในระบบห่วงโซ่มูลค่า ทั้งจากภาครัฐและเอกชน สถาบันวิจัย และสมาคมเกษตรกรเพิ่มเติมได้ที่ www.asean-agrifood.org/asean-101-asean-for-the-next-generations/. โดยวีดีทัศน์ชื่อเรื่อง ‘ASEAN 101: ASEAN for the Next Generation ความยาว 5 นาทีนี้ นำเสนอความท้าทายด้านระบบอาหาร-เกษตรแบบยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียนที่มีผลต่อโลกใบนี้
GALLERY