เมื่อคุณซื้อสินค้ามาชิ้นหนึ่ง คุณทำอะไรกับกล่องหรือห่อของมัน…นำมารีไซเคิล หรือทิ้งลงถังขยะ?
ทุกวันนี้ โลกของเราเต็มไปด้วยขยะ และขยะจำนวนมากเป็นพลาสติกที่ใช้เพียงครั้งเดียว ไม่สามารถย่อยสลายได้ และไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ ในปี พ.ศ. 2560 ประเทศไทยมีขยะมากถึง 27.37 ล้านตัน (ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ) ซึ่งขยะจำนวนมากถูกส่งไปที่หลุมฝังกลบ ถูกพัดพาหรือไม่ก็ถูกทิ้งลงแม่น้ำและมหาสมุทร
บรรจุภัณฑ์เป็นหนึ่งในประเด็นเร่งด่วนที่หลายหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมพยายามแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขยะพลาสติก ที่มีกรมควบคุมมลพิษร่วมกับโครงการพัฒนาการและการวัดผลการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน สำหรับสังคมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง และกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ของ GIZ ดำเนินการอยู่ โดยเมื่อวันที่ 1-5 เมษายน พ.ศ. 2562 กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติและความปลอดภัยทางปรมาณู สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU) ได้เชิญกรมควบคุมมลพิษ โดยมีนายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ พร้อมด้วยตัวแทนจากประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย เข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนนโยบายระดับสูง พร้อมทั้งเข้าเยี่ยมชมการทำงานด้านบรรจุภัณฑ์ ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี
การเยี่ยมเยียนประเทศเยอรมนีครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ลด ควบคุมบรรจุภัณฑ์ ใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้และธุรกิจสีเขียว” ซึ่งมุ่งเน้นไปที่นโยบายและเครื่องมือในการลดบรรจุภัณฑ์ โดยมีการออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การทำฉลาก และการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมี Mr. Ulf Jaeckel หัวหน้าแผนกการปกป้องสิ่งแวดล้อมจากผลิตภัณฑ์ มาตรฐาน และการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของกระทรวง BMU เป็นผู้บรรยายเรื่องการผลิตบรรจุภัณฑ์ของสหภาพยุโรป ข้อกำหนดด้านขยะบรรจุภัณฑ์ แนวทางและนโยบายที่เกี่ยวข้อง
หลังจากที่ได้รับความรู้และแลกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติครั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษคาดว่าจะพัฒนาเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับบรรจุภัณฑ์ที่จะนำไปใช้ในหน่วยงานของรัฐต่อไป
ประเทศไทยได้จัดทำแผนลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และพลาสติกที่ไม่จำเป็นอื่นๆ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะลดขยะบรรจุภัณฑ์ให้ได้ร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2568 และร้อยละ 55 ภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งการลดบรรจุภัณฑ์พลาสติก การเพิ่มความสามารถในการนำกลับมาใช้ใหม่ของผลิตภัณฑ์ และการใช้วัสดุรีไซเคิลเป็นเกณฑ์สำคัญสำหรับฉลากสีเขียวของประเทศไทย
“การนำนโยบายสีเขียวไปใช้ในหน่วยงานของรัฐเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้ ดังนั้นการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนจึงเป็นสิ่งสำคัญ “Lab of Tomorrow (LoT)” เป็นโครงการของ GIZ ที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาหาทางออกร่วมกับภาคเอกชน เพื่อขับเคลื่อนและค้นหาความท้าทายในการพัฒนา ในส่วนของประเทศไทยนั้น โครงการจะดำเนินงานภายใต้แนวคิด “การลด การนำมาใช้ใหม่ และทดแทนการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกในแม่น้ำและมหาสมุทร” นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าว
โครงการ Lab of Tomorrow เป็นการนำเอาธุรกิจของไทยและยุโรป ธุรกิจสตาร์ทอัพ (ธุรกิจที่ค้นหาโมเดลธุรกิจใหม่) สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐ มาทำงานร่วมกันเพื่อสร้างและพัฒนารูปแบบธุรกิจที่มีศักยภาพภายใต้แนวคิดการลดบรรจุภัณฑ์พลาสติกให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2562 ซึ่งการประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในภาคธุรกิจนี้จัดขึ้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562
โครงการ SCP Outreach in Asia – The Next Five
เนื่องในวาระที่ประเทศไทยได้เป็นประธานอาเซียนปีพ.ศ. 2562 กรมควบคุมมลพิษคาดว่าจะเปิดตัวโครงการ“ SCP Outreach” อย่างเป็นทางการ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาฉลากสิ่งแวดล้อมและการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวของรัฐบาลใน 5 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และภูฏาน ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 นี้