คณะผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนของไทยเข้าร่วมการประชุม ศึกษาดูงานด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับเยอรมนีและเยี่ยมชมโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (รูปภาพ: GIZ/นที ทองจันทร์)
คณะผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนของไทยที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้านนโยบายการเงินและการคลัง ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รวมทั้งกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ กองบริหารกองทุนสิ่งแวดล้อม) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เข้าร่วมการประชุมและศึกษาดูงาน พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของประเทศเยอรมนีและสหภาพยุโรป อาทิ กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติและความปลอดภัยทางปรมาณู สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU) กระทรวงการคลัง (BMF) สภาที่ปรึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (RNE) ธนาคารเพื่อการลงทุนของยุโรป (EIB) ธนาคารดอยช์ (Deutsche Bank) ธนาคารเพื่อการพัฒนาของเยอรมัน (KfW) ตลาดหลักทรัพย์ของประเทศเยอรมนี เป็นต้น ณ ประเทศเยอรมนี ระหว่างวันที่ 20-24 พฤษภาคม พ.ศ. 2562
การศึกษาดูงานครั้งนี้ คณะผู้แทนของไทยได้เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในด้านต่างๆ ได้แก่
- นโยบายการดำเนินงาน เช่น การเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษ ภาษีคาร์บอน แผนงานที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ รวมถึงกลไกและเครื่องมือต่างๆ ด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อดำเนินการส่งเสริมการลงทุนที่เป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศ
- บทบาทของภาคเอกชน โดยเฉพาะจากภาคการเงินในการมีส่วนร่วมดำเนินงานด้านการเงิน และการลงทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลงทุนอย่างยั่งยืนและธนาคารสีเขียว
- การดำเนินงานร่วมกับกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) ประโยชน์ที่ได้รับ และนโยบายสำหรับภาคธุรกิจ
- แนวทางการปฏิบัติที่ดี และรูปแบบธุรกิจด้านการเงิน เพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
พร้อมกันนี้ ยังได้มีโอกาสเยี่ยมชมโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นโครงการลดการปล่อยก็าซเรือนกระจก ได้แก่ โครงการหมู่บ้านที่ใช้พลังงานที่ผลิตได้เองทั้งหมดจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์ ลม และชีวมวล โครงการนี้ได้รับทุนจากแหล่งเงินทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ เทศบาล มลรัฐ สหภาพยุโรป และบริษัทเอกชน นอกจากนั้น ยังได้เยี่ยมชมโครงการห้องนั่งเล่นสีเขียวของสภาเมือง Ludwigburg ที่ได้รับการออกแบบให้เป็นระบบนิเวศขนาดเล็ก ที่สามารถจัดสรรให้มีพื้นที่สีเขียวในเมืองเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังได้เยี่ยมชมโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยในเมือง ซึ่งได้รวมแนวคิดการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้าไว้ในการพัฒนาดังกล่าว
การแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ ทำให้ผู้แทนของไทยเข้าใจในนโยบายการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกลไกด้านการเงินต่างๆ มากขึ้น ซึ่งจะสามารถนำมาใช้ในการทำงานของแต่ละหน่วยงานได้
“ในฐานะผู้ตรวจสอบการเงินภาครัฐ การมาศึกษาแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ ทำให้ได้รับความรู้และความเข้าใจมากขึ้นในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงทำให้ทราบว่ามีกลไกและเครื่องมือทางการเงินอะไรบ้างที่ใช้กระตุ้นให้เกิดการตระหนักถึงปัญหาของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และส่งเสริมความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้แนวคิดที่จะใช้ในการติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สิน รวมทั้งการประเมินผลในด้านความยั่งยืน ความคุ้มค่า และความมีประสิทธิภาพของการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สิน เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินงานด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของหน่วยงานด้วย” คุณนันทิดา บัวแย้ม สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน
การศึกษาแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ จัดโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะหน่วยประสานงานหลักของประเทศของกองทุนภูมิอากาศสีเขียว ร่วมกับ GIZ ภายใต้โครงการสนับสนุนการเตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินงานของกองทุนภูมิอากาศสีเขียว ระยะที่ 2
การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือ อะไร
จากข้อมูลของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หมายถึง เงินทุนสำหรับระดับท้องถิ่น ระดับชาติ หรือระดับนานาประเทศ ซึ่งมาจากแหล่งเงินทุนของภาครัฐ ภาคเอกชน และอื่นๆ ที่สนับสนุนการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ทำไมประเทศไทยถึงต้องการการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาระดับโลก ที่ประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากรายงานของ GermanWatch ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสิบประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรง นอกจากนี้รัฐบาลไทยได้ให้คำมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20 ภายในปีพ.ศ. 2573 และร้อยละ 25 หากได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ประเทศไทยจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณระดับประเทศ เพื่อการลงทุนในโครงการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงโครงการด้านการปรับตัว เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะส่งผลกระทบต่อประชากร
ปัจจุบันประเทศไทยมีงบประมาณเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือไม่
งบประมาณเพื่อการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากงบประมาณภาครัฐ และอีกส่วนหนึ่งจากงบประมาณภาคเอกชน ซึ่งการจัดสรรเงินทุนจากภาคเอกชนส่วนใหญ่จะมุ่งสนับสนุนโครงการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น พลังงานหมุนเวียน และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในประเด็นดังกล่าวข้างต้น สผ. ร่วมกับ GIZ ดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนการสนับสนุนทางการเงินต่อการดำเนินงานดังกล่าว จากแหล่งเงินทุนภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงแหล่งเงินทุนระหว่างประเทศ
GALLERY