กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินงาน “โครงการการจัดการของเสียแบบผสมผสานเพื่อการลดก๊าซเรือนกระจก” เมื่อวันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ผ่านการประชุมออนไลน์ด้วยโปรแกรมซูม (Zoom)
หลังจากดำเนินโครงการเป็นระยะเวลา 5 ปี โครงการฯ ได้นำเสนอ 17 ผลผลิตที่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนด้านการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคขยะมูลฝอยชุมชนและน้ำเสียชุมชน ตัวอย่างผลผลิตภายใต้โครงการฯ อาทิ แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจก สาขาการจัดการของเสียชุมชน แผนที่นำทางการจัดการขยะอาหาร การศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นต่อระบบการจัดการขยะและน้ำเสียชุมชนใน 3 พื้นที่นำร่อง แนวปฏิบัติที่ดีและเทคโนโลยีด้านการจัดการขยะและน้ำเสียชุมชนที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ และฐานข้อมูลระบบบำบัดน้ำเสียรวมและกลุ่มอาคาร (DSPOT) ฯลฯ
การประชุมฯ ดังกล่าวมีตัวแทนจากองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษ (สคพ.) สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) หน่วยงานวิจัย ภาคเอกชน และประชาชนผู้สนใจ เข้าร่วมในฐานะหน่วยงานที่มีภาระหน้าที่สอดคล้อง และมีโอกาสนำผลผลิตภายใต้โครงการฯ ไปใช้ประโยชน์และต่อยอด
ดร. วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model สาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนและน้ำเสียชุมชนให้มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ” โดยเน้นย้ำว่า เครื่องมือ องค์ความรู้ การพัฒนาศักยภาพบุคลากร การบังคับใช้กฏหมาย และการทำงานบูรณาการร่วมกับเครือข่าย เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก
ดร. แบนท์ คริสเตียนเซน ปรึกษาทูตฝ่ายอาหารและการเกษตร สถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี กรุงเทพฯ กล่าวแสดงความยินดีต่อความสำเร็จของโครงการ และย้ำว่าเยอรมนีพร้อมเป็นคู่ร่วมมือกับประเทศไทยเพื่อผลักดันนโยบายการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ต่อไป
ในพิธีเปิดการประชุม ดร. ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวขอบคุณผู้มีส่วนร่วมกับกระบวนการทำงานภายใต้โครงการ “ผมขอขอบคุณแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (IKI) ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่นำร่องทั้ง 3 แห่ง เทศบาลตำบลกำแพง เทศบาลเมืองยโสธร และเทศบาลนครนครสวรรค์ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างยิ่งที่สนับสนุนและผลักดันโครงการฯ จนประสบความสำเร็จ”