The workshop on developing NDC action plan in waste sector was jointly organised in June 2018 by the Pollution Control Department and the Thai-German Climate Programme
เราต้องยอมรับว่าบางครั้งการหลีกเลี่ยงที่จะสร้างขยะและน้ำเสียนั้นทำได้ไม่ง่ายเลย เช่น การที่เราบอกพนักงานร้านสะดวกซื้อไม่ทันว่าจะไม่รับถุงพลาสติกในเวลาที่เร่งรีบ หรือเมื่อสั่งซื้อคอมพิวเตอร์ออนไลน์ที่มาพร้อมกับพลาสติกหุ้มคอมพิวเตอร์ ลังกระดาษ และโฟมกันกระแทก นี่ยังไม่นับถึงกิจวัตรประจำวันเลยด้วยซ้ำที่เราสร้างน้ำเสียตั้งไม่รู้เท่าไหร่ขณะอาบน้ำหรือเข้าห้องน้ำ
ในประเทศไทย ตามรายงานของกรมควบคุมมลพิษ ปริมาณขยะและน้ำเสียเพิ่มสูงขึ้นทุกปีและส่วนใหญ่ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกสุขลักษณะ จะเกิดอะไรขึ้นหากเราจัดการขยะและน้ำเสียไม่ถูกวิธี คำตอบคือ ส่วนหนึ่งจะส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกที่ทวีความรุนแรงขึ้น รวมถึงเสียโอกาสการนำของเสียมาใช้ประโยชน์ต่อ เช่น การนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) หรือการเปลี่ยนของเสียให้เป็นพลังงาน (Waste to Energy)
เราจะรับมือกับปัญหาเหล่านี้อย่างไร
ปัจจุบันทุกภาคส่วนพยายามที่จะลดปัญหาระดับโลกนี้ เช่น ในเวทีนานาชาติ ประเทศต่างๆ ได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด – Nationally Determined Contribution: NDC” เมื่อปีพ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา ณ กรุงปารีส สอดคล้องกับในประเทศไทยที่รัฐบาลได้ประกาศให้การแก้ไขปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติในปีถัดมา
ขณะนี้ รัฐบาลไทยได้ผนวกมาตรการที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้ากับแผนและยุทธศาสตร์ของประเทศ โดยสาขาการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนและน้ำเสียชุมชนเป็นอีกภาคส่วนหนึ่งที่ประเทศให้ความสำคัญ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตัวแทนจากกรมควบคุมมลพิษ กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานจากภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันกำหนดมาตรการที่ส่งเสริมแนวทางการจัดการของเสียแบบผสมผสาน เพื่อจัดการขยะและน้ำเสียชุมชน นำไปสู่การพัฒนาเป็นแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคของเสีย โดยมีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในภาคของเสีย และตอบสนองต่อนโยบายลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย
× “ความคิดเห็นจากทุกท่านในวันนี้ จะช่วยพัฒนาการจัดการขยะและของเสียของประเทศให้ยั่งยืนและดีต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น” คุณอนุดา ทวัฒน์สิน นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ กรมควบคุมมลพิษ กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพิจารณาร่างแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกสาขาการจัดการของเสียชุมชน
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประชาชนต่างตระหนักถึงปัญหาขยะมากขึ้น ไม่เพียงแต่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนเท่านั้น และการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนก็เป็นส่วนสำคัญในการช่วยบริหารจัดการขยะและน้ำเสียของประเทศให้มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
เราอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ และได้ตกลงร่วมกันทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการจัดการขยะและน้ำเสียให้ดีขึ้น ถึงแม้บางปัญหาจะจัดการได้ยาก แต่เราลงมือทำเพื่อแก้ปัญหาได้เสมอ
× โครงการ “การจัดการของเสียแบบผสมผสานเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก” เป็นความร่วมมือระหว่างกรมควบคุมมลพิษกับแผนงานความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไทย-เยอรมัน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดการขยะมูลฝอยและน้ำเสียชุมชนให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงสนองต่อนโยบายลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย