เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงพลังงาน ประกาศความสำเร็จในการทำงาน 5 ปีของโครงการด้านพลังงาน ภายใต้แผนงานความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Thai-German Climate Programme: TGCP-Energy) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับบุคลากรด้านพลังงานใน 34 จังหวัดของประเทศไทย สร้างพื้นที่นำร่องด้านพลังงานทดแทนเพื่อขยายผลสู่จังหวัดอื่นๆ ต่อไปตามเป้าหมายของความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย ภายในปี พ.ศ.2593 และการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์
นายฮานส์ อูลริช ซูดเบค อุปทูตและหัวหน้าแผนกเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย เป็นประธานในพิธีปิดโครงการ TGCP-Energy โดยกล่าวถึงสถานการณ์พลังงานของโลกท่ามกลางความตึงเครียดของสงครามรัสเซียและยูเครน ที่ส่งผลให้ราคาต้นทุนพลังงานเพิ่มสูงขึ้นและกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของโลก
“บนเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด และเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน เยอรมนีถือเป็นประเทศที่มีการลงทุนพัฒนาด้านพลังงานทดแทน และมีความมุ่งมั่นที่จะขยายผลการดำเนินโครงการเหล่านี้สู่ประเทศที่กำลังมีการเติบโตและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประเทศไทยถือเป็นเป้าหมายในการทำงานในด้านนี้เพราะมีศักยภาพ มีทรัพยากร และมีบุคลากรที่มีความพร้อมที่จะดำเนินโครงการอย่างยั่งยืน”
โครงการ TGCP-Energy ได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการจากกระทรวงของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ภายใต้แผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) โดยการสนับสนุนด้านความร่วมมือและการวางแผนดำเนินโครงการร่วมกับกระทรวงพลังงาน สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน กองยุทธศาสตร์ และแผนงาน สำนักงานพลังงานจังหวัด ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของประเทศไทยในฐานะผู้ดำเนินโครงการ และผู้กำหนดแนวทางดำเนินงานสู่เป้าหมายของความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย ภายในปี พ.ศ.2593 และการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์
โครงการ TGCP-Energy เริ่มดำเนินโครงการในปีพ.ศ.2559 โดยทำงานร่วมกับกองยุทธศาสตร์และแผนงานในการกำหนดเนื้อหาการทำงานร่วมกัน และมีสำนักงานพลังงานจังหวัดเป็นผู้ร่วมขับเคลื่อนโครงการใน 34 จังหวัดนำร่อง อาทิ โครงการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ และเรียนรู้การใช้งานเครื่องมือด้านพลังงานต่างๆ นอกจากนี้ โครงการยังสนับสนุนแผนการดำเนินงานด้านพลังงานทดแทนในพื้นที่เป้าหมาย อาทิ พื้นที่ห่างไกลที่มีสภาพเป็นเกาะ หรือพื้นที่ต้นแบบด้านการจัดการพลังงาน เช่น จังหวัดท่องเที่ยวที่ต้องการการศึกษาความเป็นไปได้ในการวางระบบพลังงานทดแทน ตลอดจนยังมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเชื่อมการส่งข้อมูลระหว่างกระทรวงพลังงาน และสำนักงานพลังงานจังหวัดในส่วนภูมิภาค โดยกิจกรรมและโครงการต่างๆ ได้ถูกส่งมอบให้กับกระทรวงพลังงานหลังเสร็จสิ้นระยะเวลาดำเนินการ และจะได้นำไปสู่การปรับใช้ รวมถึงการวางแผนพลังงานทดแทน เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายระดับประเทศในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และความเป็นกลางทางคาร์บอนต่อไป
นายฉัตรชัย คุณโลหิต ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวในพิธีปิดโครงการ โดยระบุว่าการดำเนินโครงการนี้เป็นแผนระยะยาวที่เริ่มต้นจากการทำงานร่วมกับจังหวัดนำร่อง 3 จังหวัด ก่อนเกิดการขยายผลสู่พื้นที่เป้าหมายครบทุกภูมิภาค โดยวางเป้าหมายสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน “การทำงานทุกกิจกรรมจะเป็นการลงลึกไปถึงระดับพื้นที่ มีการวิเคราะห์ สำรวจและจัดทำแผนพลังงาน นอกจากนี้ GIZ ยังได้ร่วมพัฒนาระบบและเครื่องมือต่างๆ เพื่อเข้ามาสนับสนุนให้การทำงานเกิดความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ปัจจุบัน เครื่องมือที่ทาง GIZ พัฒนาขึ้น ได้ถูกบรรจุเอาไว้ในหลักสูตรอบรม และในกระบวนการทำงานต่างๆ ของกระทรวงพลังงาน ที่จะทำให้เราเดินหน้าสู่เป้าหมายด้านพลังงานที่ตั้งไว้ได้”
ทางด้านนายซิมงค์ โรลองค์ ผู้อำนวยการโครงการ GIZ ประเทศไทย กล่าวสรุปโครงการ โดยมุ่งหวังว่าเป้าหมายด้านการจัดการพลังงานของประเทศไทย ตามแนวทางความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ จะเป็นเป้าหมายที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันทำงานขับเคลื่อน และจากการดำเนินโครงการที่ผ่านมา แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นของเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนที่ได้เข้ามามีส่วนร่วม สนับสนุนและผลักดันให้เกิดพื้นที่เรียนรู้และพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ
โครงการด้านพลังงาน ภายใต้แผนงานความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Thai-German Climate Programme: TGCP-Energy) ดำเนินการภายใต้ความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศไทยและเยอรมนี โดยมีองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทยเป็นผู้ประสานงานการดำเนินงานหลัก โครงการฯ มีการแบ่งการทำงานออกเป็น 6 เสาหลัก ได้แก่ 1) การศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 2) การสนับสนุนเชิงวิชาการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการระดับจังหวัด 3) การพัฒนาเครื่องมือดิจิทัลสนับสนุนการวางแผน 4) การจัดทำภาพฉายอนาคตด้านพลังงานระดับจังหวัด 5) การอบรมเสริมสร้างขีดความสามารถเพื่อเชื่อมโยงกับการวางแผนพลังงานให้กับประเทศไทย และ 6) การถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่สถาบันในประเทศไทย