โครงการพัฒนาหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีแห่งชาติของ สปป. ลาวภายใต้กรอบความร่วมมือไตรภาคี ลาว-ไทย-เยอรมัน
เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมปรึกษาหารือระหว่างผู้บริหารของ “โครงการพัฒนาหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีแห่งชาติ ของ สปป. ลาว” ซึ่งดำเนินการภายใต้กรอบความร่วมมือไตรภาคี ลาว-ไทย-เยอรมัน โดย GIZ และสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตรประเทศไทย กรมปลูกฝัง กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ แห่ง สปป. ลาว และ “โครงการนำร่องด้านเกษตรกรรมใน สปป.ลาว” ซึ่งดำเนินการโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) สำนักเลขาธิการอาเซียน และกระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ แห่ง สปป. ลาว เพื่อกำหนดแนวทางและรูปแบบความร่วมมือสำหรับการสนับสนุน สปป. ลาว ในการพัฒนาหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีแห่งชาติลาว (LaoGAP ลาวจีเอพี) อันเป็นข้อกำหนดเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
จากการประชุมดังกล่าวได้เกิดเป็นความตกลงระหว่าง 2 โครงการเพื่อร่วมกันส่งเสริมมาตรฐานจีเอพีแห่งชาติลาว ใน 3 หัวข้อหลัก คือ
การส่งเสริมการจัดตั้งหน่วยรับรองสินค้าตามมาตรฐานลาวจีเอพี ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของมาตรฐานสากล (ISO guide 65)
การจัดอบรมและให้คำปรึกษาแก่กลุ่มบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายตรวจรับรอง ฝ่ายส่งเสริม และเกษตรกรให้มีความพร้อมในการนำหลักการลาวจีเอพีไปใช้ทั้งในระบบการตรวจรับรองและการนำไปปฎิบัติ
การจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนัก และความรู้ความเข้าใจแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่นำร่อง (นครหลวงเวียงจันทน์และแขวงเวียงจันทน์) เกี่ยวกับมาตรฐานลาวจีเอพี ระบบตรวจรับรองผลผลิต และความแตกต่างระหว่างสินค้าจีเอพีกับสินค้าทั่วไป
การสนับสนุน สปป. ลาว ให้มีมาตรฐานจีเอพีสำหรับผลิตผลทางการเกษตรนี้ จะช่วยยกระดับคุณภาพสินค้าสำหรับการบริโภคภายใน สปป. ลาว ให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย
———————————————————————————————————————————————————————————–
โครงการบริหารจัดการลุ่มน้ำซอง ภายใต้กรอบความร่วมมือไตรภาคี ลาว-ไทย-เยอรมัน
เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา GIZ สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แห่ง สปป. ลาว ได้ร่วมกันจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อร่างระเบียบคุ้มครองลุ่มน้ำซอง ณ โรงแรมคำปะเสิด เมืองวังเวียง สปป. ลาว
โครงการ ฯ ได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจากผู้เชี่ยวชาญจากประเทศไทย 2 ท่าน คือ คุณชฎาภรณ์ อุณหปาณี จากกรมทรัพยากรน้ำและดร. เชาวน์ นกอยู่ จากกรมควบคุมมลพิษ ร่วมกันถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ด้านการกำหนดระเบียบลุ่มน้ำ พร้อมยกตัวอย่างกรณีศึกษาของประเทศไทยในการกำหนดระเบียบการรักษาแหล่งน้ำเพื่อเป็นบทเรียนให้แก่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นชาวลาวนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ลุ่มน้ำซองและลุ่มน้ำอื่นๆ ของ สปป. ลาว ต่อไป
การจัดทำระเบียบคุ้มครองลุ่มน้ำซองนี้มีที่มาจากการที่ปัจจุบันในพื้นที่ลุ่มน้ำซองยังไม่มีระเบียบร่วมของทั้งลุ่มน้ำ มีเพียงระเบียบและข้อบังคับเรื่องการจัดการน้ำและการรักษาคุณภาพน้ำของแต่ละเมืองที่น้ำซองไหลผ่าน จึงเกิดแนวคิดเรื่องการบูรณาการระเบียบในแต่ละพื้นที่ขึ้นเพื่อให้มีระเบียบของลุ่มน้ำเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อให้มีการจัดสรรทรัพยากรน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของแต่ละภาคส่วนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ มีการเลือกใช้วิธีการบริหารจัดการน้ำแบบผสมผสานให้เหมาะสมตลอดลุ่มน้ำ และการรักษาคุณภาพและปริมาณน้ำให้สอดคล้องกับวิถีการอุปโภคบริโภคน้ำในปัจจุบัน และในอนาคตผ่านการบังคับใช้ระเบียบการคุ้มครองน้ำเดียวกัน เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ระหว่างการประชุม ได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนระดับเจ้าหน้าที่จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้านการกำกับดูแลลุ่มน้ำซองจำนวน 25 คน ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และร่วมกันเสนอแนะเพื่อกำหนดเป็นระเบียบและมาตรการเพื่อคุ้มครองลุ่มน้ำซองฉบับร่าง จึงสามารถกล่าวได้ว่าทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการร่างระเบียบอย่างแท้จริง ก่อนที่จะนำเสนอเพื่อขอความเห็นชอบจากผู้บริหารของแต่ละเมืองที่ แม่น้ำซองไหลผ่าน และนำไปประกาศใช้ในพื้นที่ลุ่มน้ำซองภายในกลางปี 2556