เป็นเวลา 15 ปีที่ประเทศติมอร์เลสเตได้รับอิสรภาพ มีการให้เงินสนับสนุนจากต่างประเทศมากกว่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจสังคม สร้างระบบฟื้นฟูความปลอดภัย ลดภาวะยากจนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรให้ดีขึ้น ถึงแม้ว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาจะสร้างความสนใจให้แก่คนติมอร์ไม่น้อย หากแต่ยังมีอีกหลายประเด็นที่จำเป็นต้องพัฒนาโดยเพิ่มการมีส่วนร่วมของคนท้องถื่น
ความร่วมมือไตรภาคีไทยเยอรมันได้เริ่มโครงการเสริมแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและห่วงโซ่มูลค่าให้กับงานส่งเสริมการเกษตรในติมอร์เลสเตมากว่าหนึ่งปีแล้ว โดยได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชและกรมส่งเสริมการเกษตร โครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มรายได้ของชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯและผลผลิตทางการค้า
เจ้าหน้าที่ส่งเสริมมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงเกษตรกรสู่ตลาดและแนะนำเทคโนโลยีในการผลิตที่ดีขึ้น ดังนั้นในกิจกรรมครั้งล่าสุด โครงการฯได้จัดการฝึกอบรมเรื่องการเป็นวิทยากรกระบวนการที่ดีให้แก่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมฯ เพื่อสามารถทำงานร่วมกับเกษตรกรจากสี่หมู่บ้านนำร่องได้อย่างมีส่วนร่วมมากขึ้น การฝึกอบรมประกอบไปด้วยการเรียนรู้ในห้องเรียนสองวันและการลงพื้นที่เพื่อฝึกปฏิบัติและออกแบบแผนงานกับเกษตรกรเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และทำงานอย่างใกล้ชิดกับเกษตรกรต้นแบบ
แต่ความท้าทายย่อมมีตลอด…
“เรามีวัตถุประสงค์ในการมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเกษตร แต่รายได้นั้นขึ้นอยู่กับการตลาด เราสามารถฝึกอบรมได้เอง แต่เมื่อต้องแข่งขันในตลาด เรากลับพบว่าไม่ง่าย เพราะมีบางกรณีที่ไม่ยอมซื้อผักของเรา การเพิ่มคุณภาพและปริมาณจึงเป็นสิ่งที่ยาก”- Siquito Soares, เกษตรกรหมู่บ้าน Hera
ข้อท้าทายเหล่านี้รวมถึงความก้าวหน้าต่างๆ ได้ถูกรายงานในการประชุมผู้บริหารโครงการฯ โดยมีนาย Cesar da Cruz เลขาธิการใหญ่ กระทรวงเกษตรและประมง ติมอร์เลสเต นางสุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์ อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ และนาย Silvio Decurtins ผู้ประสานงานประเทศและความร่วมมือเยอรมัน GIZ เป็นประธาน ตัวแทนแต่ละฝ่ายได้ยืนยันว่าจะสนับสนุนโครงการต่อไปและได้ลงนามสัญญาความร่วมมือร่วมกัน
“ความร่วมมือติมอร์ไทยเยอรมันมีการเริ่มต้นที่ดี แต่เราต้องดูว่ากลยุทธ์ของโครงการดีแค่ไหนและจะไปในทิศทางใด หวังว่าทุกท่านจะให้การสนับสนุนกระทรวงและสิ่งที่ได้ตัดสินใจร่วมกันในวันนี้” – Cesar da Cruz
นอกจากการเสริมสร้างทักษะและความรู้ของกลุ่มเป้าหมายแล้ว ยังมีการเสริมสร้างทักษะและความรู้ของทีมงานโครงการเช่นกันในการประชุมเชิงปฏิบัติเพื่อปฐมนิเทศและเสริมศักยภาพของทีมงานในการเข้าใจหลักการบริหารโครงการแบบมุ่งผลสัมฤทธ์ ในติมอร์เลสเตมีประชากรมากกว่าร้อยละ 60 ที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปี ดังนั้นคนรุ่นใหม่จึงเป็นกลุ่มสำคัญในการสร้างโอกาสเพื่อพัฒนาประเทศจากนวัตกรรมและความรู้ใหม่ๆ
“ผมชอบการทำงานในเรื่องการพัฒนาชุมชนและชนบท ผมประทับใจกับหลักการเศรษฐกิจพอเพียง ผมอยากจะมีเครือข่ายที่กว้างขวางขึ้นในการทำงาน และอยากจะเรียนรู้วิธีการทำงานที่ดีกับองค์กรเยอรมัน”- Frenqui Monteiro เจ้าหน้าที่โครงการความร่วมมือไตรภาคี
กิจกรรมสุดท้ายเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาหลักสูตรและคู่มือในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจพอเพียงและพัฒนาธุรกิจสำหรับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนและร่างคู่มือการทำงานที่สรุปกิจกรรมทั้งหลายที่ได้อบรมกันมา การประชุมได้สิ้นสุดลงด้วยการตกลงถึงแผนการทำงานและขั้นตอนถัดไปในการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
งานพัฒนาในประเทศติมอร์เป็นเรื่องที่ยังถกเถียงกันได้อยู่จนถึงทุกวันนี้ หากโครงการมีความประสงค์ที่จะตอบสนองต่อความต้องการของประเทศจริงๆ ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายควรมีส่วนร่วม ซึ่งเยาวชนและชาวติมอร์รุ่นใหม่สามารถมีบทบาทมากขึ้นในการผลักดันและสร้างอนาคตของประเทศ