โครงการสนับสนุนการเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานของกองทุน Green Climate Fund ระยะที่สอง: การเสริมสร้างความพร้อมในการดำเนินงานด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย

ความเป็นมา
เพื่อต่อยอดผลการดำเนินงานโครงการฯ ระยะที่ 1 (มกราคม พ.ศ. 2560 – มิถุนายน พ.ศ. 2561) (ดูข้อมูลเพิ่มเติมจากโครงการฯ ระยะที่ 1) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะหน่วยประสานงานหลักของกองทุน GCF (National Designated Authority: NDA) ได้ดำเนินโครงการ “การสนับสนุนการเตรียมพร้อมในการดำเนินงานของกองทุน GCF ในประเทศไทย ระยะที่ 2 ด้านการขยายความพร้อมในการดำเนินงานด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย” เพื่อยกระดับการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของกองทุน GCF และการลงทุนในประเทศไทยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายภาคส่วน
วัตถุประสงค์
- เพื่อสนับสนุนศักยภาพที่จำเป็นให้กับสผ.ในฐานะ NDA อาทิ การศึกษาวิเคราะห์ภาพรวมด้านการเงินในประเทศเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โอกาสและอุปสรรคในการลงทุนด้านภูมิอากาศ และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน
- เพื่อสนับสนุนหน่วยงานในประเทศในการขอรับการรับรองเป็นหน่วยงานปฏิบัติการระดับชาติ (Direct Access Entity: DAE)
- เพื่อช่วยกำหนดขอบเขตในการพัฒนาโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุน GCF รวมทั้งกำหนดลำดับความสำคัญของแผนงานและกลไกในการเข้าถึงเงินทุน
- เพื่อวิเคราะห์โอกาสและความท้าทายของการลงทุนในภาคเอกชนตลอดจนจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อกระตุ้นการลงทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- เพื่อเสริมสร้างความตระหนักของภาคเอกชนให้ทราบถึงโอกาสและผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการมีส่วนร่วมกับกองทุน GCF
แนวทางการดำเนินงาน
โครงการฯช่วยเสริมสร้างศักยภาพของ NDA ในการส่งเสริมและผลักดันภาคเอกชนรวมถึงภาคการธนาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารของรัฐและธนาคารพาณิชย์ในประเทศ กระทรวงการคลังและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานของกองทุน GCF ในประเทศ
ในการสนับสนุนการดำเนินงานของ NDA นั้น โครงการฯสนับสนุนการประเมินหาโครงการที่เหมาะสมและเป็นไปได้ในระดับประเทศเพื่อขอรับการสนับสนุนจากกองทุน GCF รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายของ NDA ทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ ตลอดจนประสานกับภาคเอกชนเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วม นอกจากนี้โครงการฯยังสนับสนุนกองบริหารกองทุนสิ่งแวดล้อมในกระบวนการขอรับการรับรองเป็นหน่วยงานปฏิบัติการระดับชาติ (DAE)
ผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมา
โครงการฯในระยะที่ 2 ได้นำเสนอผลการศึกษาที่จัดทำโดยที่ปรึกษาของโครงการได้ดำเนินการเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งตลอดระยะเวลาของโครงการฯได้เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมกับทั้งภาครัฐและเอกชนโดยเฉพาะกับธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐเพื่อสร้างความเข้าใจและแลกเปลี่ยนมุมมองต่อประเด็นความท้าทายและอุปสรรคในการสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ผลลัพธ์จากการศึกษาและจากการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนได้ชี้ให้เห็นถึงอุปสรรคร่วมกันในด้านการลงทุนและโอกาสในภาคส่วนต่างๆรวมถึงแนวทางที่การสนับสนุนจากกองทุนGCF จะสามารถช่วยลดช่องว่างและอุปสรรคดังกล่าวได้อย่างไร
สำหรับประเด็นการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Mitigation) นั้น ผลการศึกษาได้เสนอแนะให้ดำเนินการพัฒนาหลักการ จัดทำข้อเสนอโครงการ และระบุหน่วยงานที่มีศักยภาพในการขอรับรองเป็นหน่วยงาน DAE ในภาคการขนส่งและภาคอุตสาหกรรม นอกจากนั้นในด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Adaptation) ข้อเสนอแนะมุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างความเข้าใจเรื่องการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ (Human Settlement) และด้านสาธารณสุข (Health) ซึ่งควรมีการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลตลอดจนการศึกษาด้านความพร้อมเชิงลึกมากขึ้น
ข้อมูลเพิ่มเติมโครงการระยะที่ 1 และ 3
สนับสนุนงบประมาณโดย
- กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (GCF)
- กระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ)
ประเทศ
ประเทศไทย
หน่วยงานร่วมดำเนินงาน
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ระยะเวลาดำเนินโครงการ
มีนาคม พ.ศ. 2561 – กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563
ข้อมูลเพิ่มเติม
Mr Heinrich Gudenus
Email: heinrich.gudenus(at)giz.de