ความเป็นมา
สำหรับประเทศไทยการพัฒนาระบบการขอรับสนับสนุนทางการเงินและการยกระดับโครงสร้างหน่วยงานเพื่อสนับสนุนกลไกทางการเงินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) มีความสำคัญมากขึ้น เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศได้ รัฐบาลไทยจึงมีการวางแนวทางการขอรับเงินทุนสนับสนุนจากทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ โดยมีกองทุนสิ่งแวดล้อม (Environmental Fund: EF) เป็นกลไกหลักในการดำเนินการทางการเงินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย
สำหรับการเข้าถึงเงินทุนสนับสนุนระหว่างประเทศ อาทิ กองทุน GCF นั้น กองบริหารกองทุนสิ่งแวดล้อม (Environmental Fund Division: EFD) ภายใต้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักของประเทศในการบริหารกลไกทางเงินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับมาตรการการป้องกันผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม (Environmental and Social Safeguards: ESS) ในการนี้เพื่อให้ EFD สามารถดำเนินการได้ตามบทบาทดังกล่าว และบรรลุเป้าหมายตามแผนงานนั้น การสนับสนุนด้านเทคนิคมีความจำเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะการผสานหลักเกณฑ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของกองทุนสิ่งแวดล้อม ตลอดจนครอบคลุมมาตรการด้าน ESS นโยบายและแนวปฏิบัติด้านความเสมอภาคทางเพศ และเกณฑ์ความไว้วางใจ
วัตถุประสงค์
- เพื่อยกระดับขีดความสามารถของ EFD ในการบริหารกลไกทางเงินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ ผ่านการให้คำปรึกษาเชิงเทคนิค การฝึกอบรม และการพัฒนาคู่มือการปฏิบัติงานเพื่อบูรณาการหลักเกณฑ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้สอดคล้องกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม
- เพื่อเพิ่มความเชี่ยวชาญของ EFD ในการดำเนินงานให้สอดคล้องกับเกณฑ์ความไว้วางใจ มาตรการด้าน ESS และนโยบายและแนวปฏิบัติด้านความเสมอภาคทางเพศ เพื่อให้ได้รับการรับรองจากกองทุน GCF
- เพื่อส่งเสริมศักยภาพของ EFD เพื่อเพิ่มโอกาสในการขอรับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานระหว่างประเทศ สำหรับการพัฒนาโครงการที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไป
แนวทางการดำเนินงาน
- ส่งเสริมการบูรณาการหลักเกณฑ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้สอดคล้องกับกรอบการดำเนินงานของ EFD เพื่อจัดทำแผนการประเมินข้อเสนอโครงการ ตลอดจนพัฒนาวิธีการบริหารกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
- พัฒนาแนวทางการปฏิบัติงานของกองทุน จัดทำคู่มือสำหรับผู้พัฒนาโครงการ และแนะนำแนวทางเพื่อขอรับรองจากกองทุน GCF ตลอดจนช่วยเพิ่มขีดความสามารถของ EFD ผ่านการฝึกอบรม การแลกเปลี่ยนแบบ peer-to-peer และการหารือกับหน่วยงานที่ได้รับการรับรองจากกองทุน GCF (Direct Access Entities: DAE) ในประเทศอื่นๆ
- ให้คำแนะนำด้านระบบดิจิทัลเพื่อการประสานงานกับหน่วยงานภายนอก
ผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมา
ข้อมูลเพิ่มเติมโครงการระยะที่ 1 และ 2
สนับสนุนงบประมาณโดย
- กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (GCF)
- กระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ)
ประเทศ
ประเทศไทย
หน่วยงานร่วมดำเนินงาน
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ระยะเวลาดำเนินโครงการ
01/2020 – 07/2021
ข้อมูลเพิ่มเติม
http://gcf.onep.go.th/th/