GIZ ร่วมประชุม Climate and Clean Air Conference 2023 เพื่อส่งเสริมอนาคตสีเขียวของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ตัวแทน GIZ ร่วมประชุม Climate and Clean Air 2023: ส่งเสริมอนาคตสีเขียวของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- GIZ ร่วมการประชุม Climate and Clean Air Conference 2023 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งผู้นำระดับโลกมารวมตัวกันเพื่อร่วมเป็นแนวหน้าในการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ
- GIZ โดยโครงการ SFF Air Quality Management – Climate Change ร่วมจัดเวทีเสวนาเพื่อสำรวจโอกาสความร่วมมือระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในประเด็นที่เกี่ยวข้อง
- คณะผู้อภิปรายได้เจาะลึก 5 คำถามสำคัญของการทำงานร่วมกันในระดับนานาชาติ
องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เข้าร่วมการประชุมด้านมลภาวะอากาศ Climate and Clean Air Conference 2023 ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งสหประชาชาติ (UNCC) กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม ถึง 2 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมระดมความคิดเห็นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ ผู้กำหนดนโยบาย และองค์กรที่มีเป้าหมายในการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยนวัตกรรม
GIZ โดยโครงการแนวทางบูรณาการเพื่อการจัดการคุณภาพอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ – การจัดเตรียมแนวทางระดับภูมิภาค (SFF Air Quality Management – Climate Change) ได้ร่วมจัดการประชุมในหัวข้อ “ช่องว่างและโอกาสของความร่วมมือระดับภูมิภาคในการจัดการคุณภาพอากาศแบบบูรณาการและการบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” โดยตัวแทนจาก GIZ เป็นผู้ดำเนินรายการและมีผู้ร่วมอภิปรายมาร่วมแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกจากองค์กรชั้นนำมากมาย เช่น คณะทำงานอาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (AWGCC) ที่ปรึกษาธนาคารโลก (World Bank Consultant) ความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศและอากาศสะอาด Climate and Clean Air Coalition (CCAC) คณะกรรมาธิการกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (UNESCAP) องค์กรด้านอากาศสะอาดแห่งเอเชีย (CAA) และศูนย์ความร่วมมือด้านอากาศสะอาดและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (CCCACC)
สรุป 5 ประเด็นสำคัญจากการประชุม
- อุปสรรคและองค์ประกอบสำคัญของข้อตกลงระดับภูมิภาค: อุปสรรคของข้อตกลงระดับภูมิภาคครอบคลุมถึงการกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมายที่ซับซ้อนและลำดับความสำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละประเทศ ซึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการนำข้อตกลงไปใช้ ได้แก่ นโยบายที่สอดคล้องกับเป้าหมายของแต่ละประเทศ การแบ่งปันข้อมูลระหว่างประเทศ และการเสริมสร้างขีดความสามารถร่วมกันในภูมิภาค นอกจากนั้นองค์ประกอบสำคัญของข้อตกลงระดับภูมิภาคคือการวางเป้าหมายด้านคุณภาพอากาศไปในทิศทางเดียวกัน มีความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกัน และส่งเสริมความร่วมมือข้ามพรมแดน
- การบูรณาการการจัดการคุณภาพอากาศและการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: ที่ประชุมเน้นย้ำถึงประโยชน์ร่วมที่จะได้จากการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศและอากาศสะอาด ซึ่งแนวทางบูรณาการจะช่วยปลดล็อกการทำงานร่วมกัน สามารถดึงเงินทุนเข้ามาเพิ่มเติม และเสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาค โดยต้องปรับให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่แต่ละประเทศมีอยู่ เช่น แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจก (NDCs) และแผนปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)
- การจัดหาเงินทุนเพื่อคุณภาพอากาศและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ: กลไกทางการเงินควรครอบคลุมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน แหล่งเงินทุนสำหรับนวัตกรรมใหม่ รวมถึงการใช้กองทุนด้านสภาพภูมิอากาศอย่างรอบคอบและคุ้มค่า โดยการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและความร่วมมือระหว่างประเทศถือเป็นหัวใจสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
- ความร่วมมือระหว่างประเทศ: ในฐานะผู้สนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน องค์กรระหว่างประเทศและประเทศสมาชิกควรเดินหน้าพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศด้วยการใช้ประโยชน์จากความสามารถในการจัดการโครงการ การเสริมสร้างขีดความสามารถ และการสนับสนุนด้านนโยบาย องค์กรระหว่างประเทศควรมีความพร้อมที่จะส่งเสริมการพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย แบ่งปันแนวปฏิบัติที่ประสบความสำเร็จ และขยายขอบเขตการสนับสนุนเชิงเทคนิค โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือการอำนวยความสะดวกในการพัฒนาข้อตกลงระดับภูมิภาคที่มีประสิทธิภาพต่อไป
- กลยุทธ์การสื่อสาร: การโน้มน้าวผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจและสาธารณชนจำเป็นต้องมีการนำเสนอที่ชัดเจนและตรงประเด็น โดยเน้นข้อมูลด้านสาธารณสุข การเติบโตทางเศรษฐกิจ และความรับผิดชอบในระดับสากล ซึ่งทุกองค์กรสามารถมีส่วนร่วมในการกระตุ้นและสนับสนุนการจัดการคุณภาพอากาศและการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้
นอกจากนี้ Climate & Clean Air Coalition (CCAC) ยังร่วมมือกับประเทศและผู้สนับสนุนข้อปฏิญญาว่าด้วยการลดปล่อยก๊าซมีเทนระดับโลก Global Methane Pledge (GMP) เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและการประสานงาน การติดตามความคืบหน้า การติดตามการดำเนินการตามนโยบายและความสำเร็จของโครงการ ไปจนถึงการบำรุงรักษาและพัฒนาทรัพยากรต่างๆ รวมถึงการให้คำแนะนำแบบตัวต่อตัว นอกจากนั้นยังเชิญชวนผู้ร่วมประชุมและผู้สนับสนุนให้เข้าศูนย์ CCAC รวมถึงการเข้าประชุม พูดคุยกับคณะที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Advisory Panel) และการพบปะกับภาครัฐ
การประชุมครั้งนี้ทำให้เกิดบทสนทนาที่สร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นความกระตือรือร้นในการทำงานร่วมกัน ซึ่งจะช่วยให้เกิดการทำงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับโลกใบนี้ต่อไป
คุณมาร์ตินา ออตโต หัวหน้าคณะเลขาฯ ความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศและอากาศสะอาด Climate and Clean Air Coalition (CCAC)
ดร.แพทริก บูเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนโครงการ จาก GIZ สำนักงานใหญ่
(จากซ้ายไปขวา) คุณนัม ซังมิน ผู้อำนวยการ UNESCAP คุณเอกชัย โลจนาภิวัฒน์ ผู้จัดการโครงการ GIZ ประเทศไทย และคุณอัลวาโร่ ซูริต้า ผู้อำนวยการโครงการ GIZ ประเทศไทย
ผู้ร่วมงานประชุม
อัลวาโร่ ซูริต้า
ผู้อำนวยการโครงการ SFF Air Quality Management – Climate Change
อีเมล:alvaro.zurita(at)giz.de
ข่าวที่เกี่ยวข้อง