ข้อมูลและตัวเลข
รถยนต์บนท้องถนนในโลกทุกวันนี้มีจำนวนสูงกว่าหนึ่งพันล้านคัน และตัวเลขดังกล่าวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี พ.ศ. 2583 ซึ่งเกือบทั้งหมด (กว่าร้อยละ 90) เป็นผลมาจากการเติบโตของภาคยานยนต์ในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ จากจำนวนยานยนต์ข้างต้น ประมาณการว่าจะมียานยนต์ถึงประมาณ 515 ล้านคันใช้งานอยู่ทั่วภูมิภาคอาเซียนภายในปี พ.ศ. 2593 ส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภาคการคมนาคมขนส่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 30 ของการปล่อยก๊าซจากการใช้พลังงานทั้งหมด โดยร้อยละ 98 ของปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาจากภาคการขนส่งทางถนน ดังนั้นจึงได้มีความพยายามที่จะจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการขนส่งโดยปรับปรุงแนวทางการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับยานยนต์ (Fuel Efficiency: FE) ในประเทศไทย
สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและบรรเทาผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการขนส่งทางบกสำหรับภูมิภาคอาเซียน (TCC) ได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการขับเคลื่อนนโยบายการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพด้านยานยนต์ในประเทศไทย โดยได้ร่วมกันจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการสองครั้งในปีที่ผ่านมา ผลการประชุมดังกล่าวรวมถึงการวิเคราะห์เบื้องต้นเกี่ยวกับการใช้เชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยของรถยนต์นั่งขนาดเล็กและรถจักรยานยนต์ใหม่ และการวิเคราะห์ช่องว่างด้านนโยบายการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพด้านยานยนต์ ผลการประชุมทั้งสองครั้งถือเป็นก้าวแรกที่มีความสำคัญต่อการปรับปรุงแนวทางการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับยานยนต์ในประเทศไทย
ต่อเนื่องจากการประชุมเชิงปฏิบัติการสองครั้งก่อนเมื่อเดือนมีนาคมและพฤศจิกายน พ.ศ. 2559 “การประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 3 ภายใต้หัวข้อการขับเคลื่อนนโยบายการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพด้านยานยนต์ในประเทศไทย” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ณ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ที่กรุงเทพ เพื่อแบ่งปันข้อค้นพบและข้อเสนอแนะเบื้องต้น พร้อมทั้งระบุกรอบการทำงานในขั้นต่อไปของการศึกษาวิจัย
การประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 3 เริ่มต้นด้วยภาพรวมของการศึกษานโยบายการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพด้านยานยนต์ (FE) ในภาคการขนส่งทางบกของไทย ซึ่งดำเนินการโดยโครงการ TCC การศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าค่าเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักของการประหยัดเชื้อเพลิงของรถยนต์นั่งขนาดเล็ก (PLDV) มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานลดลงจาก 6.98 ลิตรเทียบเท่าน้ำมันเบนซินต่อ 100 กิโลเมตร เมื่อปี พ.ศ. 2555 เป็น 7.08 ลิตรในปี พ.ศ. 2557 อย่างไรก็ดี การศึกษาได้ให้ข้อเสนอแนะแนวทางในการปรับปรุง FE ในประเทศไทย ได้แก่ การปรับโครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิตตามฐานการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการปรับปรุง Eco-sticker ให้ดียิ่งขึ้น
บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด และบริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับเชิญให้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ของภาคเอกชนและศักยภาพในการปรับปรุง FE โดยได้นำเสนอวิธีการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงโดยการลดขนาดเครื่องยนต์ (downsizing) และผ่านการใช้เชื้อเพลิงแบบผสมผสาน (hybridisation) ตามลำดับ ทั้งสองบริษัทให้การสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับยานยนต์ การประชุมเชิงปฏิบัติการอัดแน่นด้วยการอภิปรายและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงานของยานยนต์และโอกาสในการปรับปรุงนโยบายเพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพในประเทศไทย
การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้เป็นเวทีที่ก่อให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องในการพัฒนา/การดำเนินนโยบายการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพด้านยานยนต์ในประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน การประชุมได้วางแนวทางที่จะนำไปสู่ความร่วมมือที่ดีระหว่างผู้มีส่วนได้เสียในการผลักดันการปรับปรุงนโยบายและมาตรการด้าน FE ให้เกิดการปฏิบัติ
ในขั้นต่อไป TCC จะจัดให้มีการหารือทวิภาคีเพื่อรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดทำการวิเคราะห์ต้นทุนผลประโยชน์ (cost benefit analysis) และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้ยานยนต์สามารถใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้บริโภคชาวไทย รัฐบาล ภาคอุตสาหกรรม และสิ่งแวดล้อม
“เรากำลังพยายามปรับปรุงเทคโนโลยีด้านยานยนต์และพฤติกรรมของผู้ขับขี่เพื่อให้เกิดการใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพในประเทศไทย” – บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด